Health & Beauty
'10 อาการที่เจอได้บ่อยหลังผ่าตัดปอด' โดย ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย
กรุงเทพฯ-“มะเร็งปอด” ยังคงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 ของคนไทย (ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับและเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) โดยในในปี 2565 มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งปอดในประเทศไทย มากไปกว่านั้น การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดในระยะแรกยังทำได้ยาก จึงทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งผู้ป่วยมากกว่าครึ่งที่ตรวจพบมักจะเจอในระยะลุกลาม เนื่องจากอาการของโรคมักไม่มีอาการส่งผลทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยล่าช้า
ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลวชิรพยาบาลกล่าวว่าในปัจจุบันการผ่าตัดปอดได้มีการพัฒนาโดยเฉพาะการผ่าตัดส่องกล้อง ส่งผลทำให้การผ่าตัดปอดนั้นเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย โดยในผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวโอกาสที่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงนั้นมีน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งนี้การผ่าตัดปอด จะต้องพบกับความเสี่ยงกับ 10 อาการที่เจอได้บ่อยหลังผ่าตัดปอด ซึ่งผู้ป่วยควรทราบก่อนเข้ารับการผ่าตัด
1. เจ็บบริเวณลำคอ โดยระหว่างผ่าตัดจะใส่ท่อช่วยหายใจขนาดใหญ่ อาจมีการระคายเคืองและท่อโดนหลอดลมได้
2. ไอหลังผ่าตัด เมื่อมีการใส่ท่อช่วยหายใจขนาดใหญ่ เพื่อทำการยุบปอด 1 ข้างระหว่างการผ่าตัด อาจเกิดการระคายเคืองที่ลำคอ หรืออาจเกิดจากการเลาะต่อมน้ำเหลืองซึ่งเกิดอาการบาดเจ็บต่อหลอดลมได้
3. ปวดบริเวณหลัง หลังการผ่าตัดจะมีการฉีดยาชาบริเวณหลัง เพื่อลดอาการเจ็บจากการผ่าตัด ทำให้มีอาการปวดได้หรืออาจเกิดจากสายระบายที่อยู่ในทรวงอกทำให้มีอาการปวดได้
4. เหนื่อยง่าย หายใจไม่สุด การผ่าตัดปอดส่งผลทำให้ปอดบางส่วนหายไป ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเหมือนเดิม แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ
5. รู้สึกเหมือนถุงทรายบริเวณผิวหนังหรือผิวโป่งออกมา (subcutaneous emphysema) หลังจากการผ่าตัดใหม่ อาจจะมีลมที่เล็ดลอดไปทางผิวหนังได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความรู้สึกถุงทราย แต่ถ้ามีบริเวณผิวหนังโป่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ควรรีบแจ้งแพทย์ทันที
6. ปวดตึงบริเวณแผลผ่าตัด เกิดจากแผลผ่าตัดมีการเย็บของไหม ทำให้รู้สึกตึงได้
7. เจ็บแปลบ ๆ คล้ายไฟช็อตบริเวณลิ้นปี่หรือราวนม เกิดจากอาจมีอาการบาดเจ็บทางเส้นประสาทบริเวณซี่โครงบริเวณผ่าตัด (neurophatic pain) ซึ่งมีระบบประสาทส่งต่อไป (Refer pain) ยังบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือราวนม อาการนี้อาจเป็นได้ถึง 1-3 เดือน และจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ
8. เจ็บบริเวณเต้านม เนื่องจากอาจมีอาการบาดเจ็บทางเส้นประสาทบริเวณซี่โครงบริเวณผ่าตัด (neurophatic pain) ซึ่งมีระบบประสาทส่งต่อไป (Refer pain)ยังบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือราวนม อาการนี้อาจเป็นได้ถึง 1-3 เดือน แต่จะค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ
9. แผลมีน้ำซึม ปกติหลังจากเอาสายระบายอาจจะมีไหมผูกหรือไม่ก็ได้ ซึ่งอาจมีน้ำซึมจากบาดแผล วิธีการแก้คือทำแผลใหม่ทุกครั้งบริเวณที่มีน้ำซึม แต่ถ้าออกเยอะมาก ๆ แนะนำพบแพทย์เพื่อทำการเย็บบริเวณรูสายระบาย
10. รู้สึกเหมือนลมวิ่งในช่องทรวงอก เนื่องจากหลังผ่าตัดปอดจะมีบางส่วนของปอดหายไป ฉะนั้นเวลาหายใจเข้าออก มีปอดยุบและพอง ส่งผลทำให้มีความรู้สึกดังกล่าวได้
สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อสงสัยด้านการผ่าตัดปอด ต้องการเข้ารับการรักษาสามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก “ผ่าตัดปอด” หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ lineofficial : @lungsurgeryth