In Bangkok
กทม.เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมเขตลาดกระบัง เตรียมแผนเพิ่มการระบายน้ำในระยะยาว

กรุงเทพฯ-กทม.เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตลาดกระบัง เตรียมแผนเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในระยะยาว
นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการเร่งระบายน้ำและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ว่า จากฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่เขตลาดกระบังประสบอุทกภัยเป็นวงกว้างทั้ง 6 แขวง ประกอบด้วย แขวงลาดกระบัง แขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงขุมทอง แขวงทับยาว และแขวงลำปลาทิว สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยกระจายติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เริ่มจากถนนสายหลัก ถนนสายรอง ตรอก ซอย และในชุมชน จำนวน 65 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องสูบน้ำของสำนักงานเขต 38 เครื่อง และได้รับการสนับสนุนจากสำนักการระบายน้ำ 27 เครื่อง ให้ครอบคลุมจุดที่ได้รับผลกระทบทั้ง 6 แขวง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ได้ประสานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร กรมชลประทาน เปิดประตูระบายน้ำสถานีสูบน้ำประเวศบุรีรมย์ ช่วยผลักดันน้ำฝั่งเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ออกไปยังฝั่ง จ.ฉะเชิงเทรา ลงสู่แม่น้ำบางปะกง ทั้งนี้ ต้องไม่ให้กระทบต่อประชาชน จ.ฉะเชิงเทรา และประสานสำนักการระบายน้ำ กทม. เปิดประตูระบายน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ ตอนลาดกระบัง เพื่อลดระดับน้ำในคลอง ขณะเดียวกันยังได้จัดตั้งกองอำนวยการร่วมและศูนย์ประสานงานช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรอการระบายบริเวณสำนักงานเขตลาดกระบัง เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองพันทหารสื่อสารที่ 12 สถานีตำรวจนครบาล ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อปพร. และ อสส.สู้วิกฤตน้ำรอการระบาย เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง ตลอดจนจัดเตรียมกระสอบเปล่าและกระสอบทรายให้ประชาชนและชุมชน นำไปสร้างแนวกั้นน้ำบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
ส่วนบริเวณชุมชนเคหะนคร 2 ซอยลาดกระบัง 36 ซึ่งอยู่ติดกับคลองลาดกระบังและมีระดับต่ำกว่าถนนลาดกระบัง จึงมีน้ำไหลเข้าท่วมชุมชนดังกล่าว สำนักงานเขตฯ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณถนนลาดกระบัง 12 เครื่อง และถนนหลวงแพ่ง 10 เครื่อง รวมทั้งบริเวณคลองลาดกระบังและคลองหนองตะกร้า เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่
นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า สำนักการระบายน้ำ ได้จัดเจ้าหน้าที่เรียงกระสอบทรายปิดกั้นน้ำในคลองที่เอ่อล้น พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณถนนหลวงแพ่งและถนนเจ้าคุณทหาร เพื่อเร่งสูบน้ำอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณน้ำที่อยู่ในคลองและตกค้างในพื้นที่มีจำนวนมาก ทำให้การปิดล้อมต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม สำนักการระบายน้ำ ได้ค้นหาจุดที่น้ำรั่วซึม เพื่อปิดล้อมและพิจารณาการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ให้สอดคล้องกับการระบายน้ำในพื้นที่ โดยประสานสำนักงานเขตฯ สำรวจแนวถนนและท่อระบายน้ำที่เชื่อมลงคลองต่าง ๆ พร้อมทั้งให้ก่อสร้างบานประตูปิดกั้นน้ำชนิดอัตโนมัติและบ่อสูบ หากมีปัญหาสามารถนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งและสูบน้ำออกได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ การระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยคลองประเวศบุรีรมย์ ปัจจุบันใช้สถานีสูบน้ำพระโขนงสูบลงแม่น้ำเจ้าพระยาและระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านประตูระบายน้ำกลางคลองประเวศบุรีรมย์ จ.ฉะเชิงเทรา ระบายออกสู่อ่าวไทย โดยใช้สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำตามแนวคลองชายทะเลโดยกรมชลประทาน สำหรับพื้นที่ถนนหลวงแพ่งและถนนลาดกระบังระบบท่อระบายน้ำจุดลงคลอง ส่วนใหญ่มีบานประตูปิดกั้นน้ำชนิดอัตโนมัติพร้อมบ่อสูบ ซึ่งมีบางจุดที่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากอยู่ในทางกลับรถ แต่ได้บริหารจัดการระบบระบายน้ำเป็นประจำ กรณีเครื่องสูบน้ำบางจุดติดตั้งไม่ได้ เนื่องจากถนนแคบและกีดขวางการจราจร ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเล็กทดแทนเครื่องใหญ่
ส่วนแผนการแก้ไขปัญหาระยะยาว ต้องบริหารจัดการน้ำในคลองและสำรวจระดับน้ำในคลองไม่ให้มีระดับที่สูงเกินกว่ามาตรฐาน กรณีเกิดฝนตกหนักแล้วน้ำสูงเกินปริมาณที่รับได้ ต้องพิจารณาเปิดประตูระบายน้ำเป็นช่วง ๆ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ด้านตะวันออก หรือติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำให้น้ำระบายลงสู่คลองด้านหน้าได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งต้องก่อสร้างจุดผลักดันน้ำให้สามารถระบายน้ำลงสู่คลองพระโขนงและปิดกั้นน้ำคลองซอยย่อยต่าง ๆ ที่เชื่อมกับคลองประเวศบุรีรมย์ เพื่อให้คลองประเวศบุรีรมย์ลดระดับน้ำลง แล้วจึงเปิดประตูคลองซอยย่อย เพื่อโรยน้ำลงสู่คลองประเวศบุรีรมย์ ลงสู่ระบบสถานีสูบน้ำพระโขนง ประกอบกับกรมชลประทานมีแผนบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง อาทิ แผนงานคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แผนงานคลองระบายน้ำหลากป่าสัก - อ่าวไทย และแผนงานทางระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 เพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างอีก 500 ลบ.ม./วินาที จากอำเภอบางไทรท้ายจุดบรรจบแม่น้ำป่าสัก ออกทะเลที่ จ.สมุทรปราการ เป็นต้น