In News

รัฐฯปชช.ระวังโรคมากับน้ำท่วม'โรคฉี่หนู' ปีนี้พบผู้ป่วยแล้วกว่า3.3ราย/ไม่ลุยน้ำสกปรก



กรุงเทพฯ-รัฐบาลห่วงใยประชาชน เตือนระมัดระวังโรคที่มากับน้ำท่วม “ไข้ฉี่หนู-เมลิออยด์” ปีนี้พบผู้ป่วยแล้วรวมกว่า 3,300 ราย แนะหลีกเลี่ยงเดินลุยน้ำย่ำโคลน/แช่น้ำเป็นเวลานานด้วยเท้าเปล่า

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าในช่วงฤดูฝนนี้มีฝนตกหนัก ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เกิดน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ รัฐบาลห่วงใยประชาชนอาจเจ็บป่วยด้วยโรคสำคัญที่มากับน้ำท่วมที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โรคไข้ฉี่หนู  หรือ Leptospirosis และโรคเมลิออยด์ (Melioidosis) หรือโรคไข้ดิน จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากทั้งสองโรคดังกล่าว โดยช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 นี้ พบผู้ป่วยทั้งสองโรครวมแล้วกว่า 3,300 ราย

นายอนุชากล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า โรคไข้ฉี่หนู หรือ Leptospirosis เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับคนและสัตว์ เชื้อโรคนี้จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนาน หรือการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากฉี่หนูหรือสัตว์อื่น ๆ ที่ติดเชื้อได้ อาการของโรคไข้ฉี่หนู คือมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จะปวดมากที่น่องและโคนขา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง โดยกรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 5 กันยายน 2565 พบผู้ป่วย 1,410 ราย เสียชีวิต 9 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุ 45-54 ปี รองลงมาอายุ 35-44 ปี และอายุ 55-64 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร

ขณะที่โรคเมลิออยด์ (Melioidosis) หรือโรคไข้ดิน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ที่พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ เชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ 1) การสัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน 2) ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป 3) สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป หลังติดเชื้อประมาณ 1 - 21 วันจะมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่น ๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อปวดกระดูก มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ บางรายพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา สำหรับสถานการณ์โรคเมลิออยด์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 กันยายน 2565 พบผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ จำนวน 1,908 ราย เสียชีวิต 24 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุ 55-64 ปี รองลงมาอายุมากกว่า 65 ปี และอายุ 45-54 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร

“สำหรับการป้องกันทั้ง 2 โรค กรมควบคุมโรคได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ รวมถึงดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาทันทีตามอาการและความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ พร้อมเข้าช่วยเหลือดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยจากน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเข้าถึงยาและการรักษาได้อย่างทันท่วงที” นายอนุชา กล่าว