In News
ชูปี71โครงสร้างพื้นฐานไทยสู่ความยั่งยืน เชื่อมโยง'ถนน-ราง-น้ำ-อากาศ'ครบลูป
กรุงเทพฯ-รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยสู่ความยั่งยืน สร้างระบบขนส่งคมนาคม เชื่อมโยงถนน-ราง-น้ำ-อากาศ อย่างไร้รอยต่อ เร่งกระจายความเจริญสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ
วันนี้ 15 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำรัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศไปสู่ความยั่งยืน สร้างระบบขนส่งคมนาคมเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในภูมิภาคต่างๆ
สำหรับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อผลักดันให้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบขนส่งสาธารณะ และแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กม. ให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งจะมี 2 สายที่จะเริ่มเปิดใช้ในปีนี้ คือโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) หลังจากนั้นจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบทั้งสองเส้นทางในปลายปี 2566 รวมถึงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของไทยและอาเซียน ถือเป็นต้นแบบสถานีอัจฉริยะ ด้วยระบบ 5G แห่งแรกของไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนรถไฟความเร็วสูง Hi-Speed Train สายตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางรวมกว่า 600 กม. โดยระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม. คาดจะเปิดให้บริการปี 2569 สำหรับระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย 356 กม. คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการในช่วงปลายปี 2565 และจะเปิดให้บริการในปี 2571 ส่วนเส้นทางสายตะวันออก รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เชื่อมกรุงเทพฯ-EEC 220 กม. ความเร็วสูงสุด 250 กม. ต่อชั่วโมง ปัจจุบันสามารถส่งมอบพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้างได้แล้ว 100% สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาในปี 2565 นี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569 ทั้งนี้รถไฟทางคู่จำนวน 4 โครงการ ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว ได้แก่ 1) ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 2) ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 3) ช่วงนครปฐม-หัวหิน และ 4) ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร
สำหรับการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ รัฐบาลได้เพิ่มศักยภาพการขนส่งทางทะเล ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่งเสริมบทบาท EEC เชื่อมทั่วโลก คาดเปิดให้บริการปี 2568 ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ศูนย์กลางขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG Hub ในกลุ่มประเทศ CLMV คาดเปิดให้บริการปี 2569 ส่วนทางอากาศ ได้พัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร เพิ่มเป็น 139 ล้านคน โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 คาดจะเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคม 2565 นี้ รวมทั้งการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวใน EEC อีกทั้งการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ส่งเสริมบทบาทไทยให้เป็น “ศูนย์การบิน” Aviation Hub ในภูมิภาคอีกด้วย
“ความคืบหน้าการดำเนินการและความสำเร็จที่เกิดขึ้นของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ทั้งทางถนน ระบบราง น้ำ และอากาศ ดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะสามารถเชื่อมต่อเมือง รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางแล้ว ยังจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และกระจายความเจริญไปยังทุกภูมิภาคของประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่สำคัญ ส่งผลดีต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการบริการของภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องในอนาคต” นายอนุชา กล่าว