In Bangkok
กทม.หารือIOMกำหนดโอกาสเป็นไปได้ จัดลำดับสิทธิและสวัสดิการผู้ย้ายถิ่นฐาน

กรุงเทพฯ-กทม. หารือ IOM กำหนดโอกาสที่เป็นไปได้ในความร่วมมือระหว่างกันและจัดลำดับความสำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิภาพของผู้ย้ายถิ่นฐาน
(14 ก.ย.65) ณ ห้องรับรอง 1 ชั้น 31 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง : ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับคณะผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) สำนักงานประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน นำโดย นางสาวเจอรัลดีน อองซาร์ค (Ms. Geraldine Ansart) หัวหน้าองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) สำนักงานประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะเพื่อนำเสนอภาพรวมของการทำงานที่ต่อเนื่องของIOMกับผู้ย้ายถิ่นฐานที่อาศัยและทำงานในเขตกรุงเทพมหานคร และกำหนดโอกาสที่เป็นไปได้ในความร่วมมือกับหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร และจัดลำดับความสำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิภาพของผู้ย้ายถิ่นฐาน
สำหรับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) มีฐานะเป็นองค์การระหว่างรัฐบาล (intergovernmental organization) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2494 เดิมใช้ชื่อว่า คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อย้ายถิ่นฐานในยุโรป (International Committee for European Migration - ICEM) ต่อมา ICEM ได้ขยายขอบข่ายการปฏิบัติงานออกไปทั่วโลกจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน” (Intergovernmental Committee for Migration – ICM) และในปี พ.ศ. 2533 ICM ได้เปลี่ยนชื่อเป็น International Organization for Migration – IOM มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือให้ผู้พลัดถิ่นและผู้โยกย้ายถิ่นฐานให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศใหม่ มีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 174 รัฐ (Member States) และมีรัฐสังเกตการณ์ 8 รัฐ นอกจากนี้สมาชิกขององค์การ IOM ยังประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติและองค์การพัฒนาเอกชน (NGOs)
สำหรับประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การ IOM เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2529 และเคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารองค์การ IOM ระหว่างเดือนพ.ย. 2532 ถึงพ.ย. 2534 เป็นเวลา 2 ปี โดยองค์การ IOM เริ่มปฏิบัติภารกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 โดยให้ความช่วยเหลือเรื่องการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน บทบาทและการประสานงานระหว่างองค์การ IOM กับรัฐบาลของรัฐต่าง ๆ ในภูมิภาคได้เพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ไทยเป็นสมาชิกขององค์การ IOM ในปี 2529 ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่หลักในการประสานงานกับองค์การ IOM ในไทย ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตั้งแต่เดือนม.ค. 2544 สำนักงานองค์การ IOM ณ กรุงเทพฯ ได้ขยายเป็นสำนักงานระดับภูมิภาค โดยปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครอบคลุมกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน และปัจจุบันองค์การ IOM มีสำนักงานในกัมพูชา เวียดนาม ลาว และเมียนมา โดยสำนักงานองค์การ IOM ณ กรุงเทพฯ มีภารกิจในการสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลของปฏิญญากรุงเทพ ฯ ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่เป็นระบบ (Bangkok Declaration on Irregular Migration) ดังนั้น สำนักงานองค์การ IOM ณ กรุงเทพฯ จึงจัดทำโครงการทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับปฏิญญาดังกล่าว และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินกิจกรรมในประเด็นที่เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน เช่น แรงงาน สุขภาพ การประสานความร่วมมือทางวิชาการ การต่อต้านการค้ามนุษย์ การสร้างความตระหนักโดยการประชาสัมพันธ์ข้อมูล และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงกับการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่เป็นระบบในภูมิภาค
สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของไทย มีกระบวนการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานฯ เป็นกระบวนการที่รัฐมีบทบาทนำและเพื่อเตรียมการสำหรับกระบวนการข้างต้น จะมีกำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ครั้งในประเทศไทย เพื่อนำผลที่ได้จากการประชุมเสนอต่อรัฐบาลไทย เพื่อนำไปประกอบการจัดทำท่าทีและการนำเสนอท่าทีของไทยในการประชุมเตรียมความพร้อมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานระดับประเทศเกี่ยวกับการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานฯ มีกำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก : การพัฒนาความร่วมมือและการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศเพื่อการต่อต้านการลักลอบขนคนและการค้ามนุษย์ จังหวัดระนอง : ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ผ่านการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยรวมถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษา และกรุงเทพมหานคร : การตระหนักถึงคุณูปการของผู้โยกย้ายถิ่นฐานในทุกมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีต่อประเทศที่ให้การพักพิง
ทั้งนี้ การประชุมมีดร. ลีน่า บันดาลี (Dr. Leena Bhandari) หัวหน้าแผนกสุขภาพกับการโยกย้ายถิ่นฐาน นางสาวซัสเกีย ก๊อก (Ms. Saskia Kok) หัวหน้าแผนกความช่วยเหลือผู้อพยพและต่อต้านการค้ามนุษย์ นางสาวภัคชนก พัฒนถาบุตร เจ้าหน้าที่โครงการแผนกเคลื่อนย้ายแรงงานและบูรณาการทางสังคม และ ผู้แทนสำนักอนามัย ผู้แทนสำนักพัฒนาสังคม ผู้แทนสำนักการโยธา ผู้แทนสำนักงานการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุม