In Bangkok
กทม.แนะสังเกตอาการเคยติดเชื้อโควิด19เปิดคลินิกLong COVID รพ.ในสังกัด

กรุงเทพฯ-สำนักการแพทย์ กทม.แนะสังเกตอาการหลังเคยติดเชื้อโควิด 19 - เปิดคลินิก Long COVID แบบ One stop Service รพ.ในสังกัด
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวกรณีมีการเสนอแนะให้ความรู้ประชาชนในการประเมินสุขภาพ สังเกตอาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นและสัมพันธ์กับภาวะ Long COVID เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีว่า อาการผิดปกติ หรือภาวะ Long COVID เป็นอาการที่ผู้ป่วยโควิด 19 มักพบภายหลังจากรักษาหายแล้ว อาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางรายเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่ หรือเป็นอาการที่หลงเหลืออยู่หลังรักษาหาย ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกระบบของร่างกายตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพจิต มักมีอาการภายหลังได้รับเชื้อโควิด 19 ประมาณ 4 - 12 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม อาการที่พบสามารถดีขึ้น หรือแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือกลับเป็นซ้ำใหม่ได้ โดยภาวะ Long COVID พบได้ในร้อยละ 25 ของผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด 19 และอาจมีอาการยาวนานถึง 1 ปี อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย ผมร่วง หายใจลำบาก หอบเหนื่อย เวียนศีรษะ ไอ วิตกกังวล เครียด นอนไม่หลับ ความจำสั้น ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก
สำนักการแพทย์มุ่งเน้นให้บริการแบบดูแลรักษาและติดตามอาการผิดปกติในระบบต่าง ๆ ของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด 19 แต่ยังคงมีอาการ ให้กลับเป็นปกติโดยเร็ว จึงเปิดให้บริการคลินิก Long COVID แบบ One Stop Service ในโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม. 9 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.65 เป็นต้นมา โดยจัดให้มีบริการคัดกรอง พบแพทย์ในจุดเดียว ครอบคลุมทั้งการให้คำปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย และส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (กรณีจำเป็น) เบื้องต้นได้วางรูปแบบบริการผู้ป่วยนอก โดยนัดหมายรับบริการผ่านศูนย์ BFC 11 รพ.สังกัด กทม. และมีช่องทางการให้บริการตรวจรักษาผ่านระบบ Telemedicine ในแอปพลิเคชัน "หมอ กทม." โดยเบิกจ่ายตามสิทธิ ขณะเดียวกันได้ปรับระบบการให้บริการทางการแพทย์และการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ของสถานพยาบาลในสังกัด กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 ให้เข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และลดอัตราการเสียชีวิต รวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 หลังรักษาหาย หรือภาวะ Long COVID และการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทั่วไปได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย นอกจากนั้น ยังให้คำแนะนำการสังเกตอาการ Long COVID หากเกิดอาการผิดปกติทั้งทางร่างกาย หรือจิตใจหลังการติดเชื้อนานกว่า 3 เดือน ควรพบแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัย ประเมินความรุนแรงและให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม