In Bangkok

กทม.พร้อมเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้ฉี่หนู ในเขตพื้นที่น้ำท่วมขัง



กรุงเทพฯ-สำนักการแพทย์ กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้ฉี่หนูและโรคไข้ดินในพื้นที่น้ำท่วมขัง

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนูและโรคเมลิออยด์ (โรคไข้ดิน) ว่า สำนักการแพทย์ ได้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis) และโรคเมลิออยด์ (โรคไข้ดิน) โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ และพื้นที่เสี่ยงสูงที่มีผู้ป่วยเมื่อปีก่อน โดยอาศัยข้อมูลทางระบาดวิทยาในการพยากรณ์แนวโน้มการระบาดของโรค หากพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายสงสัย แนะนำให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ห้ามไม่ให้รักษาตามบ้าน หรือซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากโรคดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ขณะเดียวกันได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำประชาชนในการดูแลสุขภาพและวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้ฉี่หนู โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือเดินเข้าใกล้หนู หากถูกหนูกัดให้รีบไปพบแพทย์ หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ หรือลุยน้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูท หรือถุงพลาสติกหุ้มเท้า เมื่อกลับถึงบ้านให้ทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดการสัมผัสเชื้อ รับประทานอาหารสุกใหม่ เก็บอาหารให้มิดชิด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปิด หากมีอาการสงสัยโรคฉี่หนูให้รีบพบแพทย์ทันที จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้เชื้อโรคฉี่หนูหมุนเวียนอยู่ในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยมีหนูเป็นสัตว์พาหะ จึงต้องควบคุมประชากรหนู โดยยึดหลัก 3 กำจัด คือ 1.กำจัดหนู หรือดักหนูด้วยวิธีต่าง ๆ 2.กำจัดแหล่งอาหารของหนู ได้แก่ หมั่นทำความสะอาดบ้าน อาคารและบริเวณโดยรอบไม่ให้มีเศษอาหาร หรือขยะ ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด กำจัดกองขยะเป็นประจำ หรือนำไปทิ้งในบริเวณที่เตรียมไว้ ทำความเข้าใจกับประชาชนงดให้อาหารหนู หากมีความจำเป็นสามารถใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมได้ และ 3.กำจัดที่อยู่อาศัยของหนู เช่น ปิดรูซอกอาคาร หรือปิดฝาท่อ เป็นต้น

ส่วนโรคเมลิออยด์ (โรคไข้ดิน) สามารถป้องกันได้โดยผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุกทุกครั้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองและพายุฝน ลดละเลิกการดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่ เพื่อให้สุขภาพดีและมีภูมิต้านทานโรคที่ดีขึ้น