In Thailand

เปิดทุ่งนาแปดริ้วเป็นพื้นที่รับน้ำจากกทม. ท่าถั่วรับเต็มๆวันละ6ล.ลบม.สู่บางปะกง



ฉะเชิงเทรา-เร่งระบายน้ำลาดกระบัง ทิ้งทะเลที่ประตูน้ำท่าถั่วลงสู่แม่น้ำบางปะกง 6 ล้าน ลบม.ต่อวัน หลังกรมชลฯ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสริมเพิ่มเป็น 3 ชุด ผ่านปากคลองประเวศน์บุรีรมย์ ขณะ รมว.เกษตรฯ ควงอธิบดีกรมชลประทานรุดตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำที่หน้างาน ด้านรองพ่อเมืองแปดริ้วยันรับไหว อ้างพ้นฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว

วันที่ 16 ก.ย.65 เวลา 09.55 น. ที่ประตูน้ำท่าถั่ว (ฝายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานและคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ซึ่งเป็นสถานีสูบระบายน้ำใกล้ปากคลองประเวศน์บุรีรมย์ และเป็นเส้นทางระบายน้ำจากเขตพื้นที่ กทม. ลงสู่แม่น้ำบางปะกงในบริเวณจุดเชื่อมปากคลองประเวศฯ แห่งนี้

หลังจากทางกรมชลประทาน ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสริมเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ชุด จากเดิมประตูระบายน้ำแห่งนี้มีเครื่องสูบน้ำขนาด 6 cms จำนวน 6 เครื่อง สามารถระบายน้ำออกสู่แม่น้ำบางปะกงได้ในปริมาณ 2.98 ล้าน ลบม.ต่อวันนั้น เพิ่มขึ้นเป็น 5.98 ล้าน ลบม.ต่อวัน จากการระบายผ่านบานประตู 6 เมตรรวม 2 ช่องในอัตราเฉลี่ยวันละ 0.85 ล้าน ลบม. และจากเครื่องสูบน้ำเสริมชุดที่ 1 ขนาด 3 cms จำนวน 4 เครื่อง มีอัตราการระบายที่ 0.99 ล้าน ลบม.ต่อวัน

และจากเครื่องสูบน้ำเสริมแบบไฮโดรโฟว์ ชุดที่ 2 ขนาด 3.5 cms อีกจำนวน 4 เครื่องมีอัตราการระบายที่ 1.15 ล้าน ลบม. ต่อวัน จึงทำให้สถานีระบายน้ำแห่งนี้มีขีดความสามารถในการระบายน้ำออกจากในเขตพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะในเขตประเวศและลาดกระบัง ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังสูงอยู่นั้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 5.98 ล้าน ลบม.ต่อวัน หลังการลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การระบายน้ำประมาณ 1 ชม. จนถึงเวลา 10.55 น. นายเฉลิมชัย จึงได้เดินทางกลับไป 

ขณะที่ นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้เดินทางมาให้การต้อนรับได้กล่าวเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วยอธิบดีกรมชลประทาน ได้เดินทางลงพื้นที่ เพื่อมาดูเกี่ยวกับเรื่องของการระบายน้ำจากเขตประเวศ กรุงเทพฯ ลงมาสู่แม่น้ำบางปะกง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในบริเวณเขตลาดกระบัง ซึ่งขณะนี้น้ำในบริเวรดังกล่าวได้เริ่มลดลงบ้างแล้ว

ส่วนเกษตรกรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ด้านฝั่งขวาของลำน้ำบางปะกงนั้น ขณะนี้ได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบอะไร รวมถึงคนที่มีบ้านเรือนอยู่อาศัยตามริมลำน้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ โดยการระบายน้ำเข้ามายังในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราในปัจจุบันนั้น มีการระบายผ่านคลองประเวศน์บุรีรมย์ประมาณ 5.98 ล้าน ลบม. นายณัฐพงษ์ กล่าว

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา