In News

รัฐฯชู'5Big Rocks'ปฏิรูปการศึกษาไทย มุ่งสู่ความเป็นเลิศยกระดับรับการแข่งขัน



กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษาของประเทศอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้น 5 กิจกรรมปฏิรูป เร่งยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งสู่ความเป็นเลิศ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

วันนี้ (17 กันยายน 2565) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าเรื่องการปฏิรูปการศึกษาว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษาของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าของงานตามลำดับ ตั้งแต่การวางโครงร่างปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ในช่วงปี 2560-2562 การดำเนินงานร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ การกำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา 7 ด้าน 131 โครงการ รวมทั้งได้ปรับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาฉบับที่ 2 เน้น 5 ประเด็นหลักหรือ 5 Big Rocks และประกาศใช้เมื่อต้นปี 2564 โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และมุ่งสู่ความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

นายอนุชาฯ กล่าวย้ำถึงร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ว่า เป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ มีความสมบูรณ์ทั้งสติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีสาระสำคัญที่เน้นการปรับระบบการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นความสำคัญด้านสถานศึกษาและครู ให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัวของสถาบันการศึกษา เอื้อให้สามารถสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาและจัดการการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนเป็นการศึกษาเชิงรุก (Active Learning) เน้นให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะตามช่วงวัย ใช้เทคโนโลยีสาระสนเทศเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการจัดการการศึกษา สร้างระบบนิเวศทางการศึกษา เป็นต้น โดยร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติฯ เป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาในอนาคต เป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับหลักการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาด้วย โดยประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ การมีหลักเกณฑ์และวิธีการได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ และได้รับการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันจะส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ มีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นต่อไป 

นายอนุชาฯ กล่าวต่อไปถึงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาว่า ประกอบด้วย 7 เรื่อง 29 ประเด็น 131 กิจกรรม ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ขับเคลื่อนการดำเนินการกิจกรรมแล้ว ทั้งนี้ กอปศ. ได้กำหนดแผนงานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา 7 เรื่อง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปการศึกษา ประกอบด้วย
1) การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายลำดับรอง
2) การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน 
3) การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
4) การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู และอาจารย์ 
5) การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 
6) การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา 
7) การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล (Digitalization for Educational and Learning Reform)

ทั้งนี้ แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (พ.ศ. 2561-2565) กำหนดกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rocks) มีเป้าหมายคือ ผู้เรียนทุกกลุ่มวัย ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีทักษะที่จำเป็นของโลกอนาคต สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล มีวินัย มีนิสัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเป็นพลเมืองที่รู้สิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะ โดยกิจกรรมปฏิรูป 5 Big Rocks ประกอบด้วย 
1) ปฏิรูปความเสมอภาคทางการศึกษา : การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย 
2) ปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนรับศตวรรษที่ 21 : การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 
3) ปฏิรูปการผลิตพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา : การสร้างระบบการผลิตและพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ 
4) ปฏิรูประบบการอาชีวศึกษา : การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน 
5) ปฏิรูปบทบาทการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา : การปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน 

“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นประเด็นปัญหาที่รัฐบาลเร่งแก้ไข ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากกับดักทางรายได้ของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงเร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพื่อสร้างความเสมอภาคตลอดช่วงวัย ตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงวัยแรงงาน เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพครู และระบบการศึกษาตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา ไปจนถึงอุดมศึกษา รัฐบาลยืนยันว่าการปฏิรูปการศึกษาของประเทศช่วงที่ผ่านมา มีการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา และตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาล ศธ. และ กอปศ. เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับการศึกษาของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติต่อไป” นายอนุชากล่าว