In News

'ประวิตร'ลงภาคใต้ติดตามความคืบหน้า สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก2นราธิวาส



พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 จ.นราธิวาส หวังเพิ่มช่องทางการค้าการลงทุนชายแดนระหว่าง 2 ประเทศ

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (19 กันยายน 2565) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ลงพื้นที่สำรวจและติดตามสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก แห่งที่ 2 ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยมี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. รายงานความก้าวหน้า ณ ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส 

ทั้งนี้ จากมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ได้มีข้อสั่งการให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไปเร่งรัด ประสาน ผลักดันการทำงานของทุกส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ให้พัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย – มาเลเซีย ซึ่งได้มีการดำเนินการเริ่มต้นตามแผนโครงการมาอย่างยาวนาน อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกที่อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยศอ.บต. ได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในการขนส่งการค้าชายแดน และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

นางสาวทิพานันฯ กล่าวว่า ล่าสุด ศอ.บต. ได้มีการจัดประชุมหารือการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย - มาเลเซีย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนคณะทำงาน Working group ระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย เพื่อยกระดับการค้าชายแดนตลอดจนความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส - เมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ IMT – GT เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำอีก 1 สะพาน คู่ขนานกับสะพานเดิม โดยฝ่ายมาเลเซียรับผิดชอบออกแบบรายละเอียด และที่อำเภอตากใบ ซึ่งมีแนวเส้นทางจุดเริ่มต้นที่สามแยกตากใบ บ้านหัวถนน ซึ่งเป็นสามแยกจุดตัดของฝั่งประเทศไทย สิ้นสุดทางหลวงของประเทศมาเลเซีย มีระยะทาง 11 กิโลเมตร ออกแบบเป็นถนน 4 – 6 ช่อง ถนนบริเวณพื้นที่เกาะสะท้อนเป็นโครงสร้างสะพานยกระดับมีสะพานข้ามแม่น้ำ 2 แห่ง คือ สะพานบางนรา และสะพานโก-ลก อาคารด่านศุลกากรรวมถึงตรวจคนเข้าเมืองอยู่จุดเดียวกับที่บริเวณเกาะสะท้อนเป็นอาคารระดับดิน ที่จะส่งเสริมให้เกิดความคล่องตัวด้านเศรษฐกิจการค้าทั้งนำเข้าและส่งออก รวมทั้งรองรับนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 1 มีความคับแคบไม่สะดวกต่อการตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศที่ในแต่ละวันมีเป็นจำนวนมาก โครงการก่อสร้างสะพานตากใบ-เปิงกาลันกุโบร์ โครงการถนนเชื่อมด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่สอง-ด่านบูกิตกายูฮิตัม และโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยง จังหวัดสตูล-รัฐเปอร์ลิส มาเลเซีย ซึ่งหากโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากทางรัฐบาลมาเลเซียและมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น คาดว่าจะมีการร่วมจัดทำ MOU ร่วมกันต่อไป 

โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดประชุมกลไกความร่วมมือเพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางการผลักดันโครงการความเชื่อมโยงที่คั่งค้างระหว่างกันให้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ณ อำเภอสุไหงโก-ลก (สุไหงโก-ลก - รันเตาปันยัง) แห่งที่ 2 

สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 เป็นจุดกึ่งกลางสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่สร้างสะพานแห่งที่ 2 อยู่ทางด้านขวามือหรือทิศใต้ของสะพานนี้ ห่างจากสะพานเดิม 8 เมตร ซึ่งการออกแบบสะพานแห่งนี้ ทางฝั่งประเทศมาเลเซียจะเป็นผู้ออกแบบ โดยฝ่ายไทยได้สำรวจทางธรณีวิทยาเรียบร้อยแล้วและส่งให้กับทางมาเลเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความก้าวหน้า ณ ปัจจุบัน ทางรัฐมนตรีอาวุโสกระทรวงโยธาธิการของประเทศมาเลเซีย เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 นั้น และได้นำเสนอข้อมูลให้รัฐบาลมาเลเซียเพื่อเร่งรัดผลักดันต่อไปแล้ว สะพานแห่งนี้หากก่อสร้างเสร็จก็จะยกระดับการสัญจรผ่านแดนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันในช่วงวันหยุดหรือเทศกาล จะมีประชาชนเดินทางค่อนข้างแออัด คับคั่ง และเกิดความไม่สะดวก ซึ่งประชาชนในพื้นที่รอคอยให้โครงการนี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายปี