EDU Research & ESG
วช.จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยรุ่นที่๓
กรุงเทพฯ-วช. จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับการวิจัยและนวัตกรรมในมิติใหม่ รุ่นที่ ๓ ครั้งที่ ๓ ประจำปี พ.ศ. 2565”
เมื่อวันที่ ๑๔ - ๑๖ กันยายน ๒๕๖๕ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับการวิจัยและนวัตกรรมในมิติใหม่ รุ่นที่ ๓ ครั้งที่ ๓ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕” โดยมี นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมฯ ณ ศูนย์จัดการความรู้และถ่ายทอดผลงานวิจัย อาคาร วช. ๑ ชั้น ๑ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผ่านระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference)
นายสมปรารถนา สุขทวี กล่าวว่า วช. มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ นักวิจัยรุ่นใหม่ในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยการส่งเสริมและพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับการวิจัยและนวัตกรรมในมิติใหม่ ให้สามารถเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยได้ถูกต้องตามหลักของการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีคุณภาพ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ เชิงสาธารณะ หรือเชิงนโยบายได้ วช. จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับการวิจัยและนวัตกรรมในมิติใหม่” ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งการฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ถือเป็นการฝึกอบรมฯ ครั้งที่ ๓ ของรุ่นที่ ๓
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์ / นักวิจัยรุ่นใหม่ในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยและนวัตกรรม (Full Proposal) และรับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อนำไปพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยให้มีคุณภาพตามหลักวิชาการ และนำสามารถเสนอขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ได้ โดยตลอดระยะเวลาของการฝึกอบรมฯ ทั้ง ๓ ครั้ง นั้น วช. ได้ปรับปรุงเนื้อหาสาระของหลักสูตรดังกล่าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบวิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบัน และเหมาะสมกับความต้องการของผู้เข้ารับการอบรม ทั้งนี้ วช. ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ นายสมบูรณ์ วงศ์กาด ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ศาสตราจารย์ ดร.ปรินทร์ ชัยวิสุทธางกูร รองศาสตราจารย์ ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองศาสตราจารย์ ดร.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร รองศาสตราจารย์ ดร.ขนิษฐา ชัยรัตนาวรรณ และดร.อรสุดา เจริญรัถ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัย อีกทั้ง วช. ยังได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นอย่างดียิ่ง โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวนทั้งสิ้น ๗๖ คน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏ ๓๑ แห่ง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะของผู้รับการฝึกอบรมทุกท่าน