In News
ดีอีเอสลงนามข้อตกลงรับทุน USTDA พัฒนาภูเก็ตสู่'เมืองอัจฉริยะ5จี'
กรุงเทพฯ-ดีอีเอส ลงนามข้อตกลงการรับทุน พัฒนาภูเก็ตสู่ “เมืองอัจฉริยะ” ส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและดิจิทัล อาทิ คลื่นความถี่ 6 กิกะเฮิร์ทซ์ 5G และ Smart City รวมทั้งแลกเปลี่ยนความร่วมมือและองค์ความรู้ในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้การต้อนรับ นายอรุณ เวนคาทารามาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ด้านตลาดโลก พร้อมด้วยนางเกว็น คาร์ดโน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และคณะเนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือทวิภาคี ณ ห้องรับรองแขกต่างประเทศ ชั้น 9 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและดิจิทัล อาทิ คลื่นความถี่ 6 กิกะเฮิร์ทซ์ 5G และ Smart City รวมทั้งแลกเปลี่ยนความร่วมมือและองค์ความรู้ในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน
จากนั้น นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามร่างข้อตกลงการรับทุน (Grant Agreement) โครงการความร่วมมือ Phuket Smart City Technical Assistant Package ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และองค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S Trade and Development Agency: USTDA) ร่วมกับนายอรุณ เวนคาทารามาน และนางเกว็น คาร์ดโน การลงนามร่างข้อตกลงการรับทุน
ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบในหลักการ ร่างข้อตกลงการรับทุน (Grant Agreement) โครงการความร่วมมือPhuket Smart City Technical Assistant Package ดังกล่าว โดยข้อตกลงรับทุน มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปีวัตถุประสงค์ คือ 1.เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการ ในการศึกษา และจัดทำแผน ความช่วยเหลือด้านเทคนิค(Technical Assistance) ให้แก่โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ และช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นในจังหวัดภูเก็ต 2.เพื่อให้ข้อเสนอแนะด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาต่อยอดระบบการจัดเก็บและพัฒนาข้อมูลของเมือง (City Data Platform) การพัฒนาศูนย์บัญชาการ สถานการณ์และเหตุการณ์ฉุกเฉิน (Command Center) การประเมินโครงสร้างพื้นฐานของเมือง และ ให้ข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม และ 3.เพื่อให้ข้อเสนอแนะด้านการพัฒนาทักษะด้านเทคนิคที่จำเป็น สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมบุคคลากรด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน