In News
ศบค.กทม.ถกมาตรการป้องกันโควิด-19 ยันออกตจว.ได้-ไม่มีแอปหมอชนะไม่ผิด
กรุงเทพฯ-ประชุมศบค.กรุงเทพฯ วอนชาวกรุงงดเดินทางข้ามจังหวัด พร้อมยันยังเดินทางออกต่างจังหวัดได้ปกติ ส่วนแอปหมอชนะ ไม่โหลดไม่มีความผิด พร้อมยืนยันผู้ป่วยวันนี้ 37 คน อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค
กรุงเทพฯ-(8 ม.ค. 64) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุมศบค.กทม. ครั้งที่ 6/2564 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนัก ผู้แทน บช.น. ผู้แทน กอ.รมน.กทม. ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ในที่ประชุม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในพื้นที่กทม. ความคืบหน้าการดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และข้อสั่งการจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ซึ่งได้กำชับให้ทุกจังหวัดเข้มงวดการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อสกัดและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงประโยชน์ในการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ที่จะเป็นข้อมูลในการสอบประวัติผู้ป่วยและเข้าสู่ระบบการรักษาได้รวดเร็วขึ้น ทำให้แพทย์และพยาบาลทำงานได้สะดวกและง่ายขึ้น ส่วนผู้ที่ไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว ก็ไม่ถือว่ามีความผิด แต่จะต้องจดจำข้อมูลการเดินทาง และกิจกรรมในช่วงเวลาต่างๆ (timeline) ของตนเองให้ได้ เพื่อเป็นข้อมูลในการสอบสวนโรค ทั้งนี้การปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลเท็จ นอกจากจะทำให้คนอื่นเสี่ยงติดเชื้อแล้วก็อาจเป็นความผิดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้ กทม.ขอความร่วมมือประชาชนงดการเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) แต่หากมีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปยังจังหวัดดังกล่าวทั้งแบบไป-กลับ และค้างคืน เช่น การเดินทางทั่วไป หรือการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเดินทางถึงจังหวัดนั้นๆ แล้ว ให้ติดต่อขอเอกสารรับรองก่อนเดินทางออกนอกจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมถึงผู้ประกอบการ และบริษัท แล้วแต่กรณีเป็นผู้รับรอง จากนั้นเก็บหนังสือฉบับนั้นไว้เป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ประจำด่านคัดกรองตรวจสอบต่อไป ในส่วนของผู้ที่จะเดินทางออกจากกรุงเทพมหานครนั้น กทม. ขณะนี้ยังไม่มีข้อกำหนดให้ทำหนังสือขออนุญาตออกนอกพื้นที่แต่อย่างใด
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมเพิ่มเติมว่า ในวันนี้กรุงเทพมหานครพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 37 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่สามารถติดตามสอบสวนโรคได้บางส่วน และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคบางส่วน โดยกลุ่มใหญ่คือกลุ่มจากสถานบันเทิง สำหรับTimelineของผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้นเมื่อกระบวนการสอบสวนโรคเสร็จสิ้นกรุงเทพมหานครจะเร่งแสดงTimeline ให้ประชาชนทราบโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ตรวจสอบตนเอง อย่างไรก็ตามปัญหาในขณะนี้คือผู้ติดเชื้อปกปิดข้อมูลและข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งหากเกิดกรณีในลักษณะนี้กรุงเทพมหานครจะขอรับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสอบสวนโรคต่อไป