Health & Beauty

แนะเคล็บลับ...! หญิงวัยหมดประจำเดือน เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ



กรุงเทพฯ-"โดยปกติผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจตีบมากกว่าผู้หญิงในวัยอื่น และเพราะความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้นได้ตามอายุ โดยผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นหลังหมดประจำเดือน ดังนั้นการใส่ใจดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ"

พญ.กรองอร ภิญโญลักษณา อายุรแพทย์หัวใจโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่าภาวะของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือผู้หญิงวัยทอง คือภาวะที่ผู้หญิงไม่มีประจำเดือนอย่างถาวรซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การที่ไม่มีประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี อายุเฉลี่ย
50 ปีหรือระหว่างอายุ 45 - 55 ปี จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการที่รังไข่หยุดทำงาน คือ อายุมากกว่า40 ปี จากการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างซึ่งสามารถเกิดได้ในคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปีโดยปกติรังไข่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงอย่างฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งมีผลต่ออวัยวะทั่วร่างกายเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนรังไข่จะหยุดทำงานทำให้สร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้ลดลง นำไปสู่อาการต่าง ๆ ของวัยหมดประจำเดือน ได้แก่รู้สึกร้อนวูบวาบ มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย นอนไม่หลับกระสับกระส่าย อารมณ์แปรปรวน ในบางคนมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วยซึ่งอาการมักเกิดในช่วง 3 - 4 ปีก่อนและหลังหมดประจำเดือนโดยช่วงเวลาและความรุนแรงอาจแตกต่างกันในแต่ละคนและในบางคนอาจไม่มีอาการเลยนอกจากนี้ยังอาจพบโรคที่เกิดจากภาวะการขาดฮอร์โมนเพศหญิงได้เช่น โรคกระดูกพรุน ช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น

ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้นเพราะโดยปกติฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยลดระดับไขมันไม่ดีและเพิ่มระดับไขมันที่ดีในเลือด ป้องกันไม่ให้ไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายยืดหยุ่นเมื่อขาดฮอร์โมนเพศหญิงจึงส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวหรืออุดตันได้ทั่วร่างกายรวมไปถึงหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองภาวะหลอดเลือดตีบเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ทั่วร่างกายโดยอาการที่เกิดจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของหลอดเลือดที่ตีบในอวัยวะนั้น ๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกตรงกลางร้าวไปแขนซ้าย กราม หรือไหล่รู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก เกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะมีอาการแขนขาอ่อนแรงเป็นซีก มุมปากตก พูดไม่ชัดหรือถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขา จะมีอาการปวดขาเวลาเดิน

การป้องกันหลอดเลือดตีบคือควรตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำตรวเช็กสุขภาพหัวใจ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารหวาน มัน เค็มออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับทางด้านหัวใจแนะนำให้ออกกำลังกายแบบหนักปานกลางอย่างน้อย 150นาทีต่อสัปดาห์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียดควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ งดสูบบุหรี่ หากมีโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ฯลฯควรดูแลควบคุมโรคให้ได้ตามเกณฑ์ของข้อบ่งชี้

โดยการตรวจเช็กหลอดเลือดตีบสามารถตรวจภาวะหลอดเลือดแข็งตัวหรืออุดตันในอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่หลอดเลือดหัวใจ ตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ(Coronary Artery Calcium Scan หรือ CAC)หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองใช้การตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (CarotidDuplex Ultrasound) หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงส่วนปลาย อย่างขาแขนใช้การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย(Ankle Brachial Index : ABI)ถ้าอาการไม่รุนแรงมากจะรักษาด้วยการให้ทานยาลดไขมันเพื่อลดหรือป้องกันไม่ให้ตีบเพิ่มขึ้นหรือสำหรับหลอดเลือดหัวใจยาลดไขมันสามารถป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้รวมถึงการกินยาต้านเกล็ดเลือดและยาตัวอื่น ๆ ถ้าหากมีอาการที่รุนแรงสำหรับหัวใจต้องรักษาด้วยการทำบอลลูนใส่ขดลวด (Stent)หรือผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุพพลภาพและเสียชีวิตช่วยลดอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตโดยการรักษาผู้ป่วยจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจพิจารณา

อย่างไรก็ตามเมื่อคุณผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองควรพึงระวังภาวะที่อาจจะเกิดขึ้นตามข้อมูลข้างต้นหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอตรวจเช็กสุขภาพเพื่อป้องกันและดูแลโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ
รวมไปถึงโรคหัวใจหากมีได้อย่างถูกวิธี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร. 02-310-3000 โทร.1719 หรือ Heart CareLINE Official : @hearthospital