In News
มท.หารือทีมงานสั่งลุยพัฒนาศก.ฐานราก กู้ซาก'ร้านประชารัฐฯ'หลังขาดทุนบักโกรก
ปลัดกระทรวงมหาดไทย หารือคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ส่วนกลาง เน้นบูรณาการภาคีเครือข่ายพัฒนาบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด พร้อมถอดบทเรียนให้เกิดความยั่งยืน
กรุงเทพฯ-ปลัดกระทรวงมหาดไทย หารือคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ส่วนกลาง เน้นบูรณาการภาคีเครือข่ายพัฒนาบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด พร้อมถอดบทเรียนให้เกิดความยั่งยืน
วันนี้ (22 กันยายน 2565) เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ส่วนกลาง ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายบรรจบ จันทรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย นายประวิช สุขุม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นางภาวิณี ไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด นางสาวชลิดา จันทร์สิริพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ฯ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย ได้สร้างทีมที่เป็นภาคีเครือข่ายในระดับอำเภอ หรือที่เรียกว่า “โครงการอำเภอนำร่อง” โดยมีภาคีเครือข่ายทั้ง ภาคราชการ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา ภาควิชาการ และภาคสื่อมวลชน เพื่อให้เป็นทีมจิตอาสาที่เข้มแข็งในการร่วมกันคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมกันทำกับนายอำเภอ ในการพัฒนาตำบล หมู่บ้าน และอำเภอ ให้ประชาชนมีความสุข อย่างยั่งยืน และมีทีมงานจิตอาสาที่พร้อมสำหรับขับเคลื่อนงานในระดับอำเภอ ทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศ เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ทั้ง มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านคุณภาพชีวิต มิติด้านเศรษฐกิจและสังคม มิติด้านศิลปวัฒนธรรม มิติด้านจิตอาสา ฯลฯ ซึ่งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ก็เป็นกลไกที่สำคัญ เนื่องจากมีโครงสร้าง มีรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกับโครงการอำเภอนำร่อง
นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สำหรับผลความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ตามนโยบายสานพลังประชารัฐ ภายใต้ 3 กลุ่มงาน จำนวน 4,959 กลุ่ม/ชุมชน คือ กลุ่มเกษตร จำนวน 1,302 กลุ่ม กลุ่มแปรรูป จำนวน 2,408 กลุ่ม และกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน จำนวน 1,249 กลุ่ม/ชุมชน รายได้ของกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐประจำปี 2565 ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึงกันยายน 2565 จำนวน 1,098,758,735 บาท
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริมว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ทั้ง 76 จังหวัด ยังมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีผลประกอบการเป็นบวก และมีอีกจำนวนมากที่มีผลประกอบการเป็นลบ ซึ่งส่งผลต่อความยั่งยืนของบริษัทฯ การดำเนินการในระยะต่อไปนั้น ควรมีการนำข้อมูลผลประกอบการของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ทั้งข้อมูลด้านบวกและด้านลบมาใช้ในการบริหารจัดการอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้การบริหารจัดการของบริษัทฯ เป็นไปอย่างยั่งยืน และอยากให้มีการลงรายละเอียดของแต่ละบริษัทฯ เพื่อวิเคราะห์เป็นภาพรวมของประเด็นปัญหา จุดแข็ง จุดอ่อน เพื่อที่คณะทำงานฯ จะได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน ข้อแนะนำ ให้บริษัท ประชารัฐรักษาสามัคคี จำกัด ของหลายจังหวัดที่ยังประสบปัญหาด้านผลประกอบการได้นำไปแก้ไขอย่างถูกต้องและตรงจุด
ด้าน นางภาวิณี ไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัท ประชารัฐรักษาสามัคคี จำกัด มีปัญหาสำคัญ 3 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 ด้านการตลาด เนื่องจากการพัฒนาสินค้ายังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค บริษัทฯ จะต้องเข้าไปช่วยพัฒนาและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งรวมถึงสินค้าที่เป็นด้านบริการด้วย ประเด็นที่ 2 ด้านแหล่งเงินทุน ซึ่งข้อมูลผลประกอบการจากทั้ง 76 บริษัทฯ แสดงให้เห็นว่ามีไม่ถึง 10 บริษัท ที่มีผลประกอบการเป็นบวก แม้ว่า บริษัทฯ ทั้ง 76 จังหวัด จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ก็ตาม แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถนำรายได้กลับมาเพื่อใช้ในการบริหารงานของ บริษัทฯ ได้ด้วย ทั้งนี้ ได้ทำความเข้าใจกับบริษัทฯ เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการหารายได้ เพื่อใช้ในการบริหารงานของบริษัทฯ ให้สามารถเติบโตช่วยเหลือชุมชนได้อย่างยั่งยืน และประเด็นที่ 3 ด้านการบริหารจัดการภายใน ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถทำสร้างผลประกอบการที่ดีได้ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายบริษัทฯ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารภายในทำให้การบริหารงานไม่ต่อเนื่อง
ส่วน นายประวิช สุขุม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ส่วนกลาง ได้กล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การสร้างแรงจูงใจ ซึ่งในการที่จะชักชวนภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมทำงาน ทีมงานจะต้องสร้างแรงจูงใจให้กับคนรุ่นใหม่มาร่วมกันทำงานให้ได้ โดยหนึ่งวิธีในการสร้างแรงจูงใจ คือ การได้รับความสนใจและการให้การยกย่องเชิดชูจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้บริหารระดับสูงของจังหวัด ซึ่งคณะทำงานจะได้หารือร่วมกันต่อไปในแนวทางการสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชน ที่จะช่วยทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้ด้วยดีมากยิ่งขึ้น
.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ส่วนกลาง จำเป็นต้องรู้ทั้งข้อมูลด้านบวกและข้อมูลด้านลบ เพื่อให้เกิดการศึกษา Best Practice และสามารถแก้ไขปัญหาในภาพรวมได้ อันจะช่วยสนองเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ได้ช่วยกันผลักดันขับเคลื่อนให้เกิด บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ขึ้น และเป็นกลไกในการเป็น Social Enterprise เพื่อดูแลชุมชน ดูแลจังหวัด ซึ่งคณะทำงานฯ จำเป็นต้องรู้สุขภาพของบริษัทฯ ของทุกจังหวัด และ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แม้ว่าในเชิงความยั่งยืนบริษัทฯ จะมีจุดมุ่งหมายที่ไม่แสวงหากำไร แต่บริษัทฯ เอง ก็ต้องบริหารจัดการตนเองให้ได้ และมีกำลังที่จะดูแลชุมชนได้ต่อไป ข้อเสนอหนึ่งก็คือ การจัดทำบทวิเคราะห์ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 76 เล่ม โดยนำเสนอข้อมูลของแต่ละบริษัทฯ อย่างตรงไปตรงมา วิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนา เพื่อปรับปรุงและหนุนเสริมให้ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และนำเอาตัวอย่างความสำเร็จของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ในจังหวัดที่ประสบผลสำเร็จไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับแต่ละพื้นที่ โดยจะได้มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมขับเคลื่อนนโยบายในประเด็นที่เกี่ยวกับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ในโอกาสต่อไป ซึ่งจุดอ่อนหนึ่งของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด คือ การมีกฎระเบียบที่ห้ามไม่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของบริษัทฯ แต่ในความหมาย คือ การให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปเป็นเสาหลัก ในฐานะพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา หรือเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการที่จะทำให้การบริหารจัดการของบริษัทฯ เป็นไปได้ด้วยดี และสร้างความตระหนักว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด สามารถมีรายได้เท่าที่จำเป็น สำหรับใช้ในการบริหารจัดการบริษัทฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวอย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในระยะต่อไปอยากให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นจิตอาสา โดยการจัดทำคลิปประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชน ประชาสัมพันธ์สินค้าของชุมชน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปหรือนักท่องเที่ยวเกิดความสนใจต่อผลิตภัณฑ์ของชุม สินค้า OTOP และสินค้าจากบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด หรือร้านอาหารภายในชุมชน เพื่อให้ผู้ประกอบการรายได้ที่เพิ่มขึ้น