In News
ศาลยุติธรรมใช้คอนเฟอเรนซ์ไต่สวนคดี ด้านศาลอาญาจัดOne stop Service
กรุงเทพฯ-ศาลยุติธรรม ตั้งการ์ดอุ่นใจ ใช้คอนเฟอเรนซ์ ไต่สวนคดีมรดก-ยื่นผัดฟ้องฝากขัง-อ่านคำพิพากษา ขณะที่ศาลอาญา ยกระดับความปลอดภัยโควิด จัด One Stop Service
เมื่อวันที่ 11 ม.ค.64 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงการบริหารจัดการของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่นี้ว่า ศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม ตระหนักถึงความเข้มงวดในการเฝ้าระวังและการป้องกันผ่านการวางมาตรการต่างๆ ลักษณะตั้งการ์ดแบบไม่มีตก ซึ่งได้ศึกษาและหารือกันมาแล้วโดยคณะอนุกรรมการศึกษา ติดตามและแก้ไขการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เป็นประธานอนุกรรมการฯ ซึ่งได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดคดีไว้ต่อเนื่องตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งเกาะติดสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับคู่ความและประชาชนที่ต้องติดต่อราชการศาล โดยแนวทางการบริหารจัดคดีที่เราเน้นย้ำ คือ การสร้างความสะดวกและรวดเร็วให้แก่คู่ความที่จำเป็นต้องลดหรืองดการเดินทางไปในที่สาธารณะเพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสช่วงเชื้อโควิดกำลังระบาด ซึ่งเรามีแนวทางการใช้นวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีออนไลน์ เช่น วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (VDO Conference) แอปพลิเคชั่นไลน์ (LINE) , แอปพลิเคชั่น ZOOM (ซูม) หรือการประชุมออนไลน์ทางไกลผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
โดยขณะนี้การบริหารจัดการคดีด้วยเทคโนโลยีออนไลน์ที่เรานำมาใช้ต่อเนื่อง อย่าง VDO Conference/Web Conference นั้น ก็มีทั้งการไต่สวนคดีขอตั้งผู้จัดการมรดกกรณีพนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้อง ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้สามารถยื่นคำร้องผ่านศาลที่อัยการผู้ร้องนั้นอยู่ใกล้เคียง โดยที่ผู้ร้องไม่ต้องเดินทางไปยังศาลในภูมิลำเนาของเจ้ามรดกขณะที่ถึงแก่ความตายหรือที่ตั้งทรัพย์สินนั้น ขณะที่การพิจารณาคำร้องศาลจะไต่สวนผ่านจอภาพในห้องที่จัดเตรียมเชื่อมสัญญาณของศาลต้นทางที่มีอำนาจพิจารณา กับศาลปลายทางที่อัยการผู้ร้องนั้นอยู่ ซึ่งนับตั้งแต่การยื่นคำร้องจนถึงขั้นตอนการไต่สวนนั้น จะช่วยให้ผู้ร้องลดระยะเวลาการเดินทาง ได้รับความสะดวกไม่ต้องเดินทางไกล ทั้งนี้การไต่สวนคดีขอตั้งผู้จัดการมรดกผ่าน VDO Conference ได้เริ่มใช้ระบบงานส่วนนี้ตั้งแต่กลางปี 2563 เช่น จากศาลแพ่งพระโขนง ขอไต่สวนไปยังศาลจังหวัดสีคิ้ว , ศาลแพ่งตลิ่งชัน ไปยังศาลจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสถิตินับตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ธ.ค.63 มีการไต่สวนผ่านการคอนเฟอเรนซ์ 22 ครั้ง
นอกจากนี้ช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด กระจายไปหลายพื้นที่กว่า 50 จังหวัด กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจจะต้องยื่นคำร้องผัดฟ้องและฝากขังนั้น เราก็จะสอบถามผู้ต้องหาหรือไต่สวนพยานหลักฐานในการออกหมายขังผู้ต้องหาครั้งแรกโดยการประชุมทางจอภาพหรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น โดยส่วนนี้จะเป็นอีกทางที่ช่วยสร้างความปลอดภัยด้านสุขอนามัยทั้งของผู้ต้องหาและเจ้าพนักงานซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่จากการลดจำนวนคนที่จะต้องมาแอดอัดกันบริเวณสถานที่คุมขังของศาล โดยมาตรการยื่นผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหาผ่านคอนเฟอเรนซ์นั้นเราดำเนินการมาตั้งแต่สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิดช่วงแรกเมื่อปี 2563 แล้ว โดยสถิติการใช้งานเป็นการดำเนินการผ่านระบบ VDO/Web Conference รองลงมาคือระบบ VDO Call และดำเนินการด้วยสื่อ IT อื่น เช่น LINE, Skype, ZOOM, Google Meet ซึ่งการผัดฟ้องฝากขังผู้ต้องหาระบบออนไลน์นั้น มีทั้งที่ใช้ระหว่างศาลกับเรือนจำ , ศาลกับสถานีตำรวจ , ศาลกับสำนักงานอัยการ , ศาลกับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน , ศาลกับศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนฯ โดยจำนวนคดีที่ยื่นคำร้องผัดฟ้องฝากขังตั้งแต่ครั้งแรก/ครั้งที่ 2 เป็นต้นไปช่วงปลายปีงบประมาณที่ผ่านมา กว่า 100,000 คดี
ทั้งนี้งานด้านคดีสำคัญอีกส่วนที่เรานำ VDO Conference มาใช้เพื่อความสะดวก และลดความเสี่ยงการสัมผัสระหว่างบุคคล ก็คือการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ซึ่งช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดอย่างหนักช่วงแรกในเดือน มี.ค.- พ.ค.63 มีคดีที่อ่านคำพิพากษา/คำสั่ง กว่า 5,000 คดี และศาลสูงในส่วนศาลฎีกาสถิติการอ่านคำพิพากษาและคำสั่งในคดีอาญาผ่านคอนเฟอเรนซ์ ที่เริ่มดำเนินการครั้งแรกตั้งแต่ มิ.ย.63 - ธ.ค.63 ประมาณ 20 คดี โดยการคอนเฟอเรนซ์เป็นกรณีที่อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต้นทาง กับเรือนจำที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ ซึ่งเป็นรักษาระดับความปลอดภัยด้านสุขอนามัยให้ทั้งจำเลยที่ต้องขัง และเจ้าหน้าที่ศาล เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ที่ไม่ต้องเบิกตัวจำเลยเข้า-ออกนอกสถานที่คุมขังช่วงที่ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อโควิดอย่างเข้มงวดนี้
นายสุริยัณห์ โฆษกศาลยุติธรรม ยังกล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดระลอกใหม่ที่ยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องส่งผลให้ต้องมีมาตรการป้องกันที่เพิ่มความเข้มงวดขึ้นด้วย ล่าสุดในส่วนของศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ซึ่งเป็นศาลขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีคดีสู่การพิจารณาจำนวนมาก นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้เปิดจุดบริการรับคำคู่ความเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ One Stop Service ที่ด้านหน้าทางเข้าอาคารศาลอาญา ทั้งนี้เพื่อสร้างความสะดวกให้กับคู่ความ ทนายความ และประชาชน ยื่นคำคู่ความหรือเอกสาร ๆ จุดบริการนี้เพียงจุดเดียว ผ่านกล่องรับเอกสาร Box Thru อันเป็นการยกระดับมาตรการป้องกันโรคเชื้อไวรัสโควิดอีกช่องทางหนึ่งด้วย