In News
ไทยพัฒนาสู่ศูนย์กลางคมนาคมอาเซียน ยกเครื่องสนามบินทั่วประเทศ
รัฐบาลเร่งพัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศ เตรียมรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ส่งเสริมบทบาทไทยเป็น “ศูนย์กลาง” คมนาคมของอาเซียน
กรุงเทพฯ-รัฐบาลเร่งพัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศ เตรียมรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ส่งเสริมบทบาทไทยเป็น “ศูนย์กลาง” คมนาคมของอาเซียน
วันที่ 25 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังเร่งพัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศ โดยเร่งปรับปรุงพัฒนาสนามบินที่มีอยู่เดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับการเดินทางและขนส่งทั้งในและระหว่างประเทศ สอดรับกับนโยบายเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของรัฐบาล รวมทั้งเป็นการใช้เงินงบประมาณของภาครัฐในการช่วยกระจายเม็ดเงินลงสู่ท้องถิ่น
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการสนามบินในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน ดำเนินการปรับปรุงและขยายพื้นที่การใช้งานของสนามบินนานาชาติรวม 3 แห่ง คือ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินอู่ตะเภา และสนามบินต่าง ๆ ในภูมิภาค ให้พร้อมรับการเดินทางท่องเที่ยวและขนส่งทางอากาศเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
โดยในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิเป็นการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลดความแออัด พร้อมเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอาเซียน โดยดำเนินการดังนี้
(1) ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังรองที่ 1 (Satellite 1) ซึ่งมีหลุมจอดเครื่องบินประชิดอาคารเพิ่มอีก 28 หลุม จากเดิมที่มีอยู่ 51 หลุม จะพร้อมเปิดให้บริการในปี 2565 รวมถึงก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2566 (2) ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักหลังที่ 1 ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย 66,000 ตารางเมตร โดยจะเริ่มก่อสร้างในเดือนเมษายน 2565 และจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2567 (3) ก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) เพื่อรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปีและขยายให้รองรับได้เพิ่มอีกถึง 40 ล้านคนต่อปี โดยจะเพิ่มพื้นที่ใช้สอย 348,000 ตารางเมตร จะเริ่มก่อสร้างในเดือนมกราคม 2566 และจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2568 (4) ก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย 66,000 ตารางเมตร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างส่วนต่อขยาย ทั้งด้านตะวันออก ตะวันตก และทิศเหนือ แล้วเสร็จ คาดจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 120 ล้านคนต่อปี
ขณะที่การพัฒนาสนามบินดอนเมือง เฟส 3 เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ โดยแผนการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 กำหนดแผนการดำเนินการไว้ ดังนี้ (1) ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 พื้นที่ 155,000 ตารางเมตร เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี โดยเน้นผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก (2) เพิ่มหลุมจอดเครื่องบิน 12 หลุมจอดทางด้านเหนือ ขณะนี้ออกแบบโครงการเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างร่างขอบเขตการดำเนินโครงการ (TOR) โดยคาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้เร็ว ๆ นี้ (3) โครงการอาคาร JUNCTION BUILDING เพื่อเป็นพื้นที่ร้านค้าและร้านอาหาร และ (4) งานก่อสร้างระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ หรือ APM ช่วงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ถึงที่จอดรถด้านใต้
สำหรับสนามบินอู่ตะเภา ได้มีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เสร็จแล้วและเปิดให้บริการไปเมื่อปลายปี 2562 โดยอาคารพักผู้โดยสารหลังที่ 2 สามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวน 3-5 ล้านคนต่อปี และจะให้บริการได้เต็มศักยภาพในปี 2570 ซึ่งมีประมาณการไว้ว่า จะมีผู้โดยสารมากกว่า 5 ล้านคนต่อปี และรัฐบาลมีแผนจะเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ระหว่างสนามบินอู่ตะเภา สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย
นายอนุชาฯ กล่าวว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังดำเนินการปรับปรุงสนามบินต่าง ๆ ในภูมิภาคด้วยเพื่อช่วยรองรับและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศในภาพรวม เช่น
(1) สนามบินเบตง จังหวัดยะลา ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้วและเปิดใช้งานแล้ว
(2) สนามบินนานาชาติกระบี่ หนึ่งในสนามบินสำคัญของประเทศและของภาคใต้ รองจากสนามบินภูเก็ตและหาดใหญ่ ซึ่งก่อนเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด มีชาวไทยและชาวต่างชาติมาใช้บริการสนามบินแห่งนี้เฉลี่ยประมาณ 4 ล้านคนต่อปี และเป็นสนามบินในสังกัดกรมท่าอากาศยานที่สร้างรายได้สูงสุด โดยมีการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมปรับปรุงอาคารหลังที่ 1 และ 2 เพื่อให้เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 1,500 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 8 ล้านคนต่อปี นอกจากนั้น ยังได้มีการก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ 2,000 คัน และก่อสร้างลานจอดเครื่องบินพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน ซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินโบอิ้ง 737 จากเดิม 10 ลำ เป็น 40 ลำในเวลาเดียวกัน
(3) การขยายสนามบินนานาชาติแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1.7 ล้านคนต่อปี โดยก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ พร้อมอาคารประกอบ มีพื้นที่ขนาด 12,000 ตารางเมตร ก่อสร้างทางขับ ลานจอดอากาศยานและเสริมผิวทางวิ่งเดิม ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงการก่อสร้างต่อเติมความยาวและขยายรันเวย์ เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เช่น B737 หรือ A320 ทั้งนี้ การปรับปรุงและต่อเติมสนามบินแม่สอด มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวเมืองชายแดน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับเวียดนาม เมียนมา และจีน
(4) การพัฒนาสนามบินขอนแก่น โดยกรมท่าอากาศยานมีโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ให้มีพื้นที่ใช้สอย 28,000 ตารางเมตร และมีโครงการปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังเดิม การก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์หลังใหม่ 7 ชั้น และการปรับปรุงอาคารจอดรถยนต์หลังเดิม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 1,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 2,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 5 ล้านคนต่อปี ขณะที่อาคารจอดรถยนต์เดิม 5 ชั้น สามารถรองรับรถยนต์ได้ 450 คัน เมื่อเพิ่มอาคารจอดรถยนต์หลังใหม่อีก จะจอดเพิ่มได้อีก 552 คัน รวมเป็น 1,002 คัน
“การดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานต่าง ๆ ในภูมิภาค เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการส่งเสริมการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ตามนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมถึงเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคม ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งยังสามารถรองรับการขนส่ง และการเดินทางต่อหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ” นายอนุชาฯ กล่าว