In News

ดีอีเอสสรุปภารกิจ5ปีวางโครงสร้างไทย ก้าวสู่สังคมดิจิทัล



กรุงเทพฯ-“อัจฉรินทร์” ปลัดดีอีเอส เปิดใจก่อนส่งไม้ต่อปลัดคนใหม่ เผย 5 ปีในตำแหน่งนี้ ตอบรับนโยบายตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2565) วางรากฐานโครงสร้างดิจิทัล ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ “สังคมดิจิทัล” ตามเป้าหมาย ฝากงานขยายผลสร้าง “เศรษฐกิจดิจิทัล” ต้องสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่ม หนุนไทยเกาะติดโอกาสใหม่จากพลังของข้อมูล สกัดเงินไหลออกสู่เจ้าของแพลตฟอร์มต่างประเทศ

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ช่วงระยะเวลา 5 ปี ในตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการผลักดัน Digital Economy ตามแผน 5 ปีของการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2565) ที่มุ่งวางรากฐานโครงสร้างดิจิทัล (Digital Foundation) ครอบคลุมทั้ง โครงการเน็ตประชารัฐ การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) การจัดทำร่างกฎหมายดิจิทัลฉบับใหม่ๆ ได้แก่ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างเช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ผลสำเร็จของการขับเคลื่อนภารกิจข้างต้น ทำให้ปัจจุบันกล่าวได้ว่า ประเทศไทย เข้าสู่การเป็นสังคมดิจิทัลแล้ว คนไทยเป็นชาติลำดับต้นๆ ของโลกที่มีการใช้งาน (adopt) สื่อออนไลน์ สื่อโซเชียล การซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ขณะที่ จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย ประจำปี 2565 หรือ Thailand Internet User Behavior (IUB) 2022 จัดทำโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ในภาพรวมพบว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน

นอกจากนี้ จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น กลายเป็น “ตัวเร่ง” ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่รัฐริเริ่มไว้ ซึ่งกลายมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ มีหลายหน่วยงานให้ความสนใจขอเข้าใช้งาน มาเป็นช่องทางสื่อสาร และให้บริการประชาชน คนไทยคุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ มากขึ้น เป็นการนำดิจิทัล เข้ามาใช้แก้ปัญหาโควิด

โดยผลสำรวจข้างต้นของ ETDA พบว่า กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ได้แก่ ปรึกษาและรับบริการทางการแพทย์ (จองคิว,ปรึกษาแพทย์) มากที่สุด 86.16% อาจเพราะสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้คนสนใจและหันมาจองคิวรับวัคซีน รองลงมาคือ เพื่อติดต่อสื่อสาร 65.70% ดูรายการโทรทัศน์/คลิป/ดูหนัง/ฟังเพลง 41.51% ดูถ่ายทอดสดเพื่อซื้อสินค้าและบริการ (Live Commerce) 34.10% ทำธุรกรรมทางการเงิน 31.29% อ่านโพสต์/ข่าว/บทความ/หนังสือออนไลน์ 29.51% รับ-ส่งอีเมล 26.62% ช็อปปิ้งออนไลน์ 24.55% ทำงาน/ประชุมออนไลน์ 20.67% และเล่นเกมออนไลน์ 18.75% ตามลำดับ

“ผลงานเด่นที่ภูมิใจคือ เราเป็นปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ จนครบ 5 ปี และเกษียณในตำแหน่งนี้ เรามาด้วยภารกิจที่รับมอบหมายมาจากผู้ใหญ่ที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ เราทำได้ตามเป้าหมาย โดยช่วง 2 ปีแรก หมดไปกับภารกิจตามนโยบายรัฐ ที่ต้องการผลักดัน Digital Economy สามารถผลักดันการวางโครงข่ายเน็ตประชารัฐครอบคลุมทั่วประเทศ ภายใน 18 เดือนแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง และขยายผลสู่การสอนให้ประชาชนใช้งานเป็น ที่กลายเป็นโครงการสร้างอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.)” นางสาวอัจฉรินทร์ฯ กล่าว

ขณะที่ ช่วง 3 ปีหลัง เป็นปีแห่งการเก็บตกงานทั้งหมด ต้องสานต่อหมดเลย เพราะกฎหมายฉบับใหม่ๆ ที่ออกมา ก็ต้องมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ และการออกกฎหมายลูก รวมถึงการขับเคลื่อนให้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ คือ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) ที่ผู้บริหารกระทรวงฯ ต้องการให้เป็นรูปแบบใหม่ อยากให้เป็นหน่วยงานราชการที่เอาคนที่เป็น Talent หรือคนในสาขา Data Science มาช่วยทำงานบริการวิเคราะห์ข้อมูลตามโจทย์ความต้องการของหน่วยงานรัฐ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จาก Big Data

“ความเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมไทยที่เห็นได้ชัดขึ้น หลังจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ก็คือ บริบทสังคมไทย คนอยู่กับอินเทอร์เน็ต เสพโซเชียลมีเดียเยอะ การใส่ร้าย การ bully, fake news เป็นอะไรที่ทำได้ง่าย และระบาดมากเหลือเกิน จึงทำให้ตั้งแต่ปี 63 จะเห็นการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เข้มข้นขึ้น” นางสาวอัจฉรินทร์ฯ กล่าว

นางสาวอัจฉรินทร์ฯ กล่าวว่า สำหรับ 3 เรื่องที่เห็นว่าเป็นปัญหาของประเทศไทย ที่ต้องสานต่อและรับมือให้ทัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยจากความเสี่ยงที่มากับอินเทอร์เน็ต และสามารถสร้างให้เกิด “เศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่ง ณ วันนี้ประเทศไทยยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจดิจิทัล ให้เกาะติดไปกับเทรนด์ของโลกเศรษฐกิจยุคใหม่

ประกอบด้วย 1.การกำกับดูแล Digital Service ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ทุกประเทศในโลกก็เผชิญอยู่เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น อี-คอมเมิร์ซ ในยุโรปเก็บภาษี เพราะมิเช่นนั้นการซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้ก็จะไม่มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบ เพราะแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ๆ เป็นบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศ

นอกจากนี้ จากบริบทที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลแล้ว มีการใช้บริการดิจิทัลต่างๆ มากกว่าแทบทุกประเทศ ทั้งโซเชียล โมบายแบงกิ้ง อี-คอมเมิร์ซ มีการถือครอง Crypto อันดับต้นๆ ของโลก จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแล ซึ่งต้องยอมรับว่า กฎหมายของประเทศไทยยังไม่ dynamic พอที่จะรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้นหากพบว่า เรื่องใดที่ยังมีช่องว่าง หรือขาดเจ้าภาพ ก็ต้องรีบดำเนินการปิดช่องว่างนั้น

“พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะประกาศใช้ภายในปี 65 จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยกำกับดูแล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการดิจิทัล” นางสาวอัจฉรินทร์ฯ กล่าว

2.การป้องกันภัยจากการหลอกลวงออนไลน์ (Scammer) ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมาก และดิจิทัลถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวง ในมุมของกระทรวงฯ ก็อยากปิดให้เร็วที่สุด แต่อำนาจกำกับดูแลเรื่องปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตอยู่อีกหน่วยงานหนึ่ง นอกจากนี้ ประเทศไทย ไม่มี single gateway แต่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์หลายราย ทั้งระดับในประเทศ และต่างประเทศ หน่วยงานกำกับดูแลแตกต่างกัน กระทรวงฯ จึงบล็อกไม่ได้ ดังนั้นจึงอยากขอความร่วมมือจากสื่อ “ขอฝากสื่อเตือนประชาชนให้มีสติและรอบคอบ”

3.ประเทศไทยเป็นสังคมดิจิทัลแล้ว แต่เศรษฐกิจดิจิทัล ยังไม่ค่อยเห็น คนไทยใช้แพลตฟอร์มกันมาก แต่ไม่ใช่แพลตฟอร์มไทย เงินและข้อมูลจึงไหลออกสู่เจ้าของแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ดังนั้น โจทย์คือ จะสร้าง value added ให้อยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร

 “เป็นเรื่องที่ต้องทำงานกันต่อ ถือเป็นงานใหญ่ๆ ของกระทรวงฯ ที่ต้องทำต่อ และต้องฝากปลัดกระทรวงฯ ท่านใหม่สานต่อ เราต้องสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่ม เพราะปัจจุบันคือยุคของ Data is the power ข้อมูล value ยิ่งใหญ่ ดังนั้น Data ต้องอยู่ในประเทศไทย เพื่อนำมาใช้งาน ทำการวิเคราะห์ได้” นางสาวอัจฉรินทร์ฯ กล่าว