EDU Research & ESG
ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี อวดโฉมเหนือฟ้าเมืองเชียงใหม่
ปราจีนบุรี-ได้รับแจ้งจาก งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี”
เมื่อเวลา 05.30 น.วันนี้ 28 ก.ย.65 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่าได้รับแจ้งจาก งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี” บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา นับเป็นโอกาสดีที่จะสังเกตดาวพฤหัสบดีในช่วงนี้ ปรากฏชัด สุกสว่างทางทิศตะวันออก ในช่วงหัวค่ำ สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันที่ 27 กันยายน 2565 ถือเป็นการโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2506 มีระยะทางห่างจากโลกประมาณ 591 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าวสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงรุ่งเช้า หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป เห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์บริวารทั้ง 4 ดวงได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างถัดจากดาวพฤหัสบดีไปทางทิศตะวันตกอีกด้วย
สำหรับบรรยากาศกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่จุดสังเกตการณ์หลัก ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ ท้องฟ้าเป็นใจ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีปรากฏอวดโฉมให้เห็นชัดเจนทางทิศตะวันออก สามารถมองเห็นชัดด้วยตาเปล่า เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์เห็นแถบเมฆและดวงจันทร์บริวารครบ 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด คัลลิสโต อย่างชัดเจน ชาวเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก ขณะที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย มีเมฆมากไม่สามารถสังเกตการณ์ได้
หลังจากนี้ ดาวพฤหัสบดีจะยังคงปรากฏบนท้องฟ้าในช่วงค่ำคืนจนถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และจะเข้ามาใกล้โลกครั้งต่อไปในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 นอกจากนี้ในช่วงปลายปี 2565 ยังมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามอีกหลายปรากฏการณ์ อาทิ จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 8 พฤศจิกายน ดาวอังคารใกล้โลกในวันที่ 1 ธันวาคม และฝนดาวตกเจมินิดส์ในวันที่ 14 ธันวาคม ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ www.facebook.com/NARITpage นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย
มานิตย์ สนับบุญ/ปราจีนบุรี