In News

'ประวิตร' จี้หน่วยงานรัฐเข้มประมงผิดกม. ย้ำต้องไม่เอื้อเรียกรับประโยชน์



กรุงเทพฯ-​รองนายกฯ พล.อ.ประวิตรฯ จี้หน่วยงานรัฐ เข้มมาตรการประมงผิดกฎหมาย ย้ำต้องไม่เอื้อเรียกรับประโยชน์ และไม่ให้สถานะ IUU ต้องถอยหลังลงอีก

วันนี้ (30 กันยายน 2565) เวลา 10.30 น. พลเอก คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 เพื่อติดตามเสริมประสิทธิภาพการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายให้ดียิ่งขึ้น

ที่ประชุมติดตามความคืบหน้า แนวทางและมาตรการในการพัฒนาการประมงของไทยให้ปลอดสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมง IUU ซึ่งมีการให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกระดับมากขึ้น การลดการใช้โฟมหรือวัตถุที่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติก  ผลการประชุมระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ที่เน้นให้ไทยยังคงดำเนินการแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆของการประมงตามหลักวิทยาศาสตร์และหลักสากล เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของการทำประมงต่อไป  รวมทั้งการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย ที่มุ่งเพิ่มผลผลิต 80,000 ตัน ในปี 2566 และ (ร่าง) แผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ปี 2566 - 2570 

 จากนั้นได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ  มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเป้า ตรวจสอบและดำเนินคดีเรือที่ต้องสงสัย ซึ่งกำหนดหน่วยปฏิบัติงาน ขั้นตอนการดำเนินงานและกรอบเวลาในแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจนขึ้น  และเห็นชอบการบังคับใช้กฎหมายกับการทำประมงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศร.ชล.) กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการถอนรายชื่อเรือประมงทำประมงผิดกฎหมายออกจากบัญชี 

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรฯ ได้กำชับ ศร.ชล. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังต้องทำงานหนักร่วมกัน ดำรงความเข้มงวดกวดขันมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันและแก้ไขการทำประมง IUU อย่างจริงจังต่อเนื่องกันไป รวมทั้งทำงานร่วมกับต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมย้ำต้องไม่มีคอรัปชั่น เอื้อหรือเรียกรับประโยชน์จากเจ้าหน้าที่และทุกหน่วยงานอย่างเด็ดขาด โดยจะต้องมีการกำกับตรวจสอบและประเมินมากขึ้น  เพื่อมิให้สถานะการทำประมงของประเทศ กลับไปสู่จุดต่ำสุด ที่ละเลยการปฏิบัติจากหน่วยที่มีอำนาจหน้าที่ดังเช่นที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ขอให้พัฒนาบุคลากรในแต่ละองค์กรให้มีความเข้าใจและมีความสามารถสูงขึ้น  เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำประมงให้ถูกต้องตามหลักสากล และเป็นการช่วยรักษาฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลที่ยั่งยืนร่วมกันในทุกภาคส่วน