In Global

จีนกับข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative)



ปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ต้องเจอความท้าทายอย่างหนักหน่วง เราจึงได้เห็นหลายประเทศทั่วโลกหันมาจับมือเพื่อบรรลุการพัฒนาที่แข็งแกร่งและยั่งยืนมากยิ่งขึ้นร่วมกัน

จีนในฐานะมหาอำนาจของโลกก็ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่สันติและมีเสถียรภาพสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน โดยประเทศจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เสนอ “ข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลก” (Global Development Initiative) สู่ประชาคมโลก เพื่อวิงวอนให้ทุกฝ่ายร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ปี 2030 ของสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจัง

ข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลกของจีน มีอะไรบ้าง?

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถาในงานประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดยตอนหนึ่งท่านทูตได้อธิบายและถ่ายทอดถึงข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลกของจีนไว้ดังนี้

ประการที่ 1 ยึดมั่นในเส้นทางสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์จีน เงื่อนไขปัจจัยของประเทศต่าง ๆ ในโลกนั้นแตกต่างกัน เราต้องเริ่มจากสภาพที่เป็นจริงของประเทศ และเลือกเส้นทางการพัฒนาและรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับประเทศตนเอง

ประการที่ 2 จัดการความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนา การปฏิรูป และความมั่นคงอย่างถูกต้อง การพัฒนาเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งปวง การปฏิรูปเป็นแรงผลักดันที่ทรงพลังสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และความมั่นคงเป็นเงื่อนไขแรกสำหรับการปฏิรูปและการพัฒนา 

ประการที่ 3 ยึดมั่นในแนวความคิดที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง จุดมุ่งหมายของการพัฒนาคือเพื่อบรรลุความปรารถนาของประชาชนต่อชีวิตที่ดีขึ้น การมีส่วนร่วมและความพยายามฟันฝ่าต่อสู้ของประชาชนเป็นที่มาของพลังอันเข้มแข็งในการพัฒนา

ประการที่ 4 ปฏิบัติตามแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของมนุษย์และธรรมชาติ “น้ำใสและเขาเขียวเป็นภูเขาเงินภูเขาทอง” ประโยคทองของปธน.สี จิ้งผิง แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ในการส่งเสริมการสร้างอารยธรรมทางนิเวศและส่งเสริมการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติต่อไป

ประการที่ 5 เดินหน้าตามกระแสของยุคสมัยที่มีการเปิดกว้างและได้ประโยชน์ร่วมกัน ยึดมั่นการเปิดกว้าง และเสริมสร้างการเชื่อมต่อกับตลาดโลก เชื่อมโยงทางอุตสาหกรรม และเชื่อมต่อทางกฎเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยยึดมั่นในแนวคิดการพัฒนาใหม่แห่งนวัตกรรม สมดุล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดกว้างและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน

ท่านทูตยังเน้นย้ำอีกว่า จีนสนับสนุนและปฏิบัติตามค่านิยมร่วมกันของมวลมนุษยชาติซึ่งประกอบด้วยสันติภาพ การพัฒนา ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ประชาธิปไตยและเสรีภาพอย่างแข็งขัน ดังนั้น ทุกชาติในโลกจึงไม่ควรสร้างปัจจัยลบต่อการพัฒนา และควรยึดมั่นในหลักการพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เคารพซึ่งกันและกันในอธิปไตย จึงจะสามารถจับมือกันพัฒนาได้อย่างราบรื่น 

ทั้งนี้ สิ่งที่จีนริเริ่มได้ผลิดอกออกผลและปรากฏสู่สายตาประชาคมโลกแล้ว โดยเมื่อปี 2021 จีดีพีของจีนอยู่ที่ 17.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 18% ของจีดีพีโลก จีดีพีต่อหัวอยู่ที่ 12,500 ดอลลาร์สหรัฐ จีนได้สร้างสังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้าน ขจัดความยากจนได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ในมิติด้านสิ่งแวดล้อมจีนมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนผืนป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ และลดปริมาณคาร์บอนให้เป็นศูนย์อีกด้วย โดยมีรายงานว่า 8 เดือนแรกของปี 2021 ปริมาณ PM2.5 ในกรุงปักกิ่งลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 

ด้วยเหตุนี้ข้อริเริ่มดังกล่าวของจีน จึงเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวของการพัฒนาโลก ที่จะนำมาซึ่งความผาสุกของประชาชน ไทยเองก็นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการศึกษาและร่วมมือกับจีนมาโดยตลอด เนื่องจากแนวทางการพัฒนาของประเทศไทยมีความสอดคล้องกับจีน โดยเฉพาะการส่งเสริมรูปแบบเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นการพัฒนาแบบองค์รวมในการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจจะอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน 

นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนก็กำลังตื่นตัวลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) การจัดการด้านสังคม (Social) และการจัดการด้านธรรมาภิบาล(Governance) ซึ่งล้วนมีความเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน สนับสนุนกิจการให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

ในปัจจุบันแนวคิดการพัฒนาทั้ง BCG และ ESG กำลังเป็นเทรนด์ของโลกที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับมหภาคและจุลภาค รวมถึงประชาชนทั่วไป เราจึงได้เห็นโครงการด้านความยั่งยืนเกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน ทั้งหมดสอดคล้องกับข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลกที่ประเทศจีนนำเสนอ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนโลก SDGs ของประชาคมโลก ซึ่งแน่นอนว่าทุกคน ทุกชาติ ต้องร่วมด้วยช่วยกัน จึงจะเกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความผาสุกอย่างที่ทุกคนคาดหวังไว้
----------------------------
เรียบเรียงโดย อาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีกลุ่มวิชาการ 2 คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์