In News

สธ.ยังคงรายงานสถานการณ์โควิดทุกวีค เช็คข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค



กรุงเทพฯ-กระทรวงสาธารณสุขยังคงติดตามและรายงานโควิด 19 เป็นไปตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อกำหนดโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังต้องรายงานสถานการณ์ทุกสัปดาห์ ผู้สนใจเช็คข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค

วันนี้ (3 ตุลาคม 2565) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด19 ถูกประกาศให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคยังคงติดตามและจัดทำรายงานเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ของโรคเพื่อเป็นข้อมูลในการดูแลและป้องกันตนเอง ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้ต้องรายงานสถานการณ์ทุกสัปดาห์

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลโควิด19 ได้ที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค https://ddc.moph.go.th/ ซึ่งเมื่อเข้าไปในเว็บไซต์แล้วจะพบการรายงานสถานการณ์โควิด19 อยู่ในหน้าแรกของเว็บไซต์ 

สำหรับข้อมูลที่รายงานนั้นจะประกอบด้วย ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในรอบสัปดาห์ จำนวนเฉลี่ยต่อวัน ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด  จำนวนผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ จำนวนเฉลี่ยต่อวัน และจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ และจำนวนการให้วัคซีนประชาชนทั่วประเทศ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้เริ่มรายงานข้อมูลโควิด19 รายสัปดาห์ ครั้งแรกในวันนี้(3 ต.ค.) เป็นต้นไป โดยเป็นข้อมูลของสัปดาห์ที่ 39 ปี 2565 ระหว่างวันที่ 25 ก.ย.- 1 ต.ค. 2565 ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาล 4,435 คน เฉลี่ยวันละ 634 คน สะสม 2,458,697 คน มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 65 คน เฉลี่ยวันละ 9 คน สะสม 11,073 คน มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 466 คน และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 260 คน

ทางด้านจำนวนการให้วัคซีน ณ วันที่ 1 ต.ค. 65 มีการให้วัคซีนสะสม 142,642,813 โดส เป็นวัคซีนเข็มที่ 1 57,006,430 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 53,486,987 โดส และตั้งแต่เข็มที่3 ขึ้นไป 32,149,396 โดส

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ภายหลังยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กลไกทางกฎหมายที่เข้ามาบริหารจัดการสถานการณ์โควิด19 จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งได้วางแนวทางดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้อย่างเป็นระบบ ทั้งการติดตามและรายงานสถานการณ์ของโรคให้ประชาชนทราบ การประกาศระดับของโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนมาตรการทางกฎหมายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค