In News
ไทยเข้าสังคมผู้สูงอายุแล้ว12.11ล้านคน รัฐฯชง'บัตรทอง'เพิ่มสิทธิดูแลหลายโรค
กรุงเทพฯ-รัฐบาลพร้อมดูแลผู้สูงอายุ เริ่มแล้ว! เพิ่มสิทธิบัตรทองให้ผู้สูงอายุ เข้าถึงการรักษาและป้องกันหลายโรค บริการวัคซีนป้องกันโรค วัคซีนคอตีบและบาดทะยัก วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับผู้อายุ 65 ปีขึ้นไป บริการคัดกรองความเสี่ยง ได้แก่ ประเมินภาวะโภชนาการ โรคซึมเศร้า เบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจและหลอดเลือด เอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจหาเลือดในอุจาระ (Fit-TESIT) การตรวจเนื้อเยื่อในช่องปากในกรณีพบรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก การกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งเต้านม (สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและญาติสายตรง) และคัดกรองวัณโรคใน 7 กลุ่มเสี่ยงสูง
วันนี้ (3 ตุลาคม 2565) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความห่วงใยสุขภาพของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ รัฐบาลได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง สามารถดูแลตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ประเทศไทยปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยปี 2565 มีผู้สูงอายุ 60 ปี จำนวน 12.11 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 18
นางสาวรัชดา กล่าวว่า รัฐบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เข้าดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ผ่านสิทธิตามโครงการหลักประปรกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น จากข้อมูลการเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทอง ล่าสุดในปี 2564 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 9.6 ล้านคน เข้ารับบริการแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำนวน 64.2 ล้านครั้ง จากการรับบริการในระบบบัตรทองทั้งหมด 167 ล้านครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่าโรคที่ผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาบ่อยได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ข้อเข่าเสื่อม ภาวะสมองเสื่อม หลอดเลือดหัวใจตีบ มะเร็ง และโรคตา เป็นต้น
นางสาวรัชดา กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2566 สปสช. ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ในรายการจ่ายตามบริการ (Fee Schedule) ดังนี้ บริการวัคซีนป้องกันโรค วัคซีนคอตีบและบาดทะยัก วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับผู้อายุ 65 ปีขึ้นไป บริการคัดกรองความเสี่ยง ได้แก่ ประเมินภาวะโภชนาการ โรคซึมเศร้า เบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจและหลอดเลือด เอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจหาเลือดในอุจาระ (Fit-TESIT) การตรวจเนื้อเยื่อในช่องปากในกรณีพบรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก การกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งเต้านม (สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและญาติสายตรง) และคัดกรองวัณโรคใน 7 กลุ่มเสี่ยงสูง ด้วยการเอกซเรย์ปอดในผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไปที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รวมไปถึงบริการทันตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งในปี 2566-2567 สปสช. ได้ร่วม “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียมกรณีที่ฟันเทียมไม่สามารถยึดติดเหงือกได้ ขณะเดียวกัน สปสช.ยังมีความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ซึ่งรวมไปถึงกองทุนดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณดูแลเพิ่มเติมที่ช่วยยกคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
"รัฐบาล ห่วงใยสุขภาพผู้สูงอายุและมุ่งหวังให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงบั้นปลายชีวิต จึงได้จัดสิทธิประโยชน์บริการที่ครอบคลุมให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่ดี โดยเฉพาะบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อชะลอความเจ็บป่วย ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชาชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand" นางสาวรัชดา ย้ำ