In Global
China Adorned : เสื้อผ้า อาภรณ์ ของกลุ่มชาติพันธุ์ในจีน
“China Adorned : Ritual and Custom of Ancient Cultures” เป็นหนังสือที่เขียนโดย Professor Deng Qiyao นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาชาวจีน อาจารย์ใช้เวลากว่า 30 ปี ในการเก็บข้อมูลจากของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจีนกว่า 30 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน เพื่อศึกษาถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี ผ่านเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
หนังสือเล่มนี้ จึงเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า จากการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic research) ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศจีน และรู้ลึกถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ในแต่ละช่วงชีวิต ผ่านเสื้อผ้าอาภรณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่ม
โดย Professor Deng Qiyao เขียนในหนังสือเล่มนี้ว่า เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับเป็นสิ่งที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่ม ช่วยบ่งบอกสถานะทางสังคม สถานภาพ อายุ รวมถึงความเชื่อต่างๆ จากรูปแบบ ลักษณะ การถักทอ และการสวมใส่ สะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ในจีน โดยอาจารย์แบ่งเนื้อหาเป็น 4 ส่วน ได้แก่
จุดเริ่มต้นของชีวิต
Professor Deng Qiyao กล่าวถึง ความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์หลายๆ กลุ่ม ที่เชื่อว่า ชีวิตที่เกิดมาต้องได้รับการคุ้มครองอย่างดี เสื้อผ้า ผ้าห่อตัว หมวก เครื่องประดับของทารก จึงมีสัญลักษณ์สัตว์แห่งความโชคดี การปกปักคุ้มครองให้ห่างไกลภยันตราย เช่น เสือหมายถึงความพลัง สุนัขช่วยขจัดความโชคร้าย มังกรสื่อถึงความสง่างาม ความมีอำนาจ รวมถึงสัตว์ในตำนาน เช่น นกฟินิกซ์ หรือที่ชาวจีนรู้จักในชื่อ เฟิ่งหวง และ กิเลน เที่เป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี
จากวัยเยาว์สู่วัยผู้ใหญ่
ในหลายกลุ่มชาติพันธุ์ มีประเพณีและธรรมเนียมในการต้อนรับและงานฉลองเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เช่นกลุ่มบลัง (Blang) ที่อาศัยอยู่ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน มีประเพณีมอบกฤช ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ให้เด็กผู้ชายอายุ14-15 ปี ส่วนผู้หญิง เมื่อก้าวสู่วัยผู้ใหญ่จะเปลี่ยนไปสวมใส่เครื่องประดับของผู้ใหญ่ กลุ่มเย้า (Yao) มีประเพณีการเฉลิมฉลอง โดยผู้หญิงและเด็กชาวเย้าจะร่วมทำพิธีบูชาบรรพบุรุษและขอให้ครอบครัวมีสุขภาพดี กลุ่มโหมวซัว (Mosuo) มีพิธีเปลี่ยนชุด สำหรับเด็กอายุ 13 ปี เป็นการบ่งบอกว่าเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และพร้อมจะมีคู่ครอง
การแต่งงาน
Professor Deng Qiyao กล่าวว่า พิธีแต่งงานและพิธีศพ เป็นพิธี 2 พิธีที่มีความสำคัญมากที่สุดในช่วงชีวิต เรียกว่า พิธีแดงและขาว (Red and White festivities) โดยในงานแต่งงานจะนิยมใส่ชุดสีแดง ส่วนในงานศพจะนิยมใส่ชุดสีขาว มีประเพณีที่น่าสนใจเช่น ชาวไป๋ (Bai) จะมีธรรมเนียมการแต่งงาน ด้วยการสวมกระจกสัมฤทธิ์ เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย จากนั้นจะเอากระจกไปแขวนไว้ที่ประตูบ้าน ชาวทิเบตมีประเพณีการแต่งงานที่ฝ่ายว่าที่เจ้าบ่าวจะมอบชุดผ้าไหมและเครื่องประดับให้กับว่าที่เจ้าสาวเพื่อใส่ในวันแต่งงาน และมีการมอบพู่ประดับกระจกและหยกให้เจ้าสาวในงานแต่งงาน เพื่อบ่งบอกถึงการมีคู่ครอง
ร่วงโรยสู่ราก
กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ล้วนให้ความเคารพนับถือผู้สูงอายุ มีประเพณีเกี่ยวกับการแต่งกายของผู้ก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เช่น ชาว ฮาหนี่ ไอนี ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน มีธรรมเนียมให้ผู้สูงอายุใส่ชุดสีน้ำเงินแทนชุดสีเขียว และเปลี่ยนผ้าคาดศรีษะจากสีเขียวเป็นสีแดง ซึ่งเป็นสีที่สื่อถึงพระเจ้า ผู้สูงอายุชาวเย้า (Yao) ในเขตปกครองพิเศษกว่างซีจ้วงจะมีรองเท้าอายุยืนเรียกว่า “Shou” ส่วนในการประกอบพิธีศพของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม จะมีประเพณีจัดพิธีศพเพื่อส่งผู้วายชนม์ไปหาบรรพบุรุษ โดยจัดเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่สื่อถึงความสงบและความกตัญญู เช่น หยก ทอง เป็นต้น
นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวในหนังสือ China Adorned ที่ Professor Deng Qiyao เก็บข้อมูล สัมภาษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วยตนเองในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ในหนังสือยังมีภาพถ่ายวัฒนธรรม ประเพณี ของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ที่อาจารย์เพิ่งเคยนำมาเปิดเผยสู่สาธารณะเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังได้ Cat Vinton ช่างภาพสารคดีที่มีผลงานในระดับโลก มาร่วมถ่ายภาพวิถีชีวิตและธรรมชาติ ประกอบหนังสือเล่มนี้ด้วย
สำหรับผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ Professor Deng Qiyao ท่านเป็นอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น และผลงานภาพถ่ายประกอบหนังสือ โดย Cat Vinton ช่างภาพแนวสารคดี ผู้มีผลงานตีพิมพ์ภาพถ่ายในนิตยสาร National Giographic online และ The Guardian เป็นต้น
-------------
#chinaadorned
ข้อมูลจาก : หนังสือ China Adorned จัดพิมพ์โดย River Books Thailand
บทความโดย : ประวีณมัย บ่ายคล้อย