In Bangkok

กทม.จัดเก็บข้อมูลทดลองชุดสะท้อนแสง พนง.กวาดเพื่อปรับปรุงเป็นเครื่องแบบ



กรุงเทพฯ-สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.เตรียมเก็บข้อมูลพนักงานกวาดทดลองสวมชุดสะท้อนแสง พร้อมปรับปรุงให้เหมาะสมก่อนปรับใช้เป็นเครื่องแบบ

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวถึงความเป็นมาของชุดพนักงานกวาดถนนแบบใหม่ที่เป็นชุดสะท้อนแสงว่า ชุดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการต่อยอดความสำเร็จโครงการ “แยกขวดช่วยหมอฝาก กทม.ก็ได้นะ” ซึ่งกรุงเทพมหานครร่วมกับเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand ในปี 2564 โดยรับบริจาคขวดพลาสติกใส (PET) เพื่อนำไปผลิตชุด PPE ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก หลังสิ้นสุดโครงการจึงได้ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กลุ่ม PPP Plastics โครงการวน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) Youเทิร์น by GC และ Z-Safe ขยายผลเป็นโครงการ “มือวิเศษ กรุงเทพ” นำขยะพลาสติกขวด PET ใสเบอร์ 1 กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแปรรูปเป็นชุดปฏิบัติงานที่มีแถบสีสะท้อนแสงตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล โดย 1 ชุด ใช้ขวด PET ขนาด 600 มล. จำนวน 42 ขวด และค่าผลิต 900 บาท มีเป้าหมายดำเนินการระยะแรก 1,000  ชุด สำหรับ 50 เขต เขตละ 20 ชุด โดยปรับเพิ่มในส่วนของสำนักงานเขตดินแดงให้ครบตามจำนวนพนักงานกวาดทุกคน เพื่อทดลองเต็มพื้นที่เขตจำนวน 200 คน รวม 1,180 ชุด

สำหรับผลการดำเนินงานโครงการฯ ขณะนี้ได้รับบริจาคขวด PET จำนวน 3,182.3 กิโลกรัม เพียงพอสำหรับการผลิตชุดสะท้อนแสง 1,180 ชุด พร้อมทั้งส่งมอบชุดปฏิบัติงานสะท้อนแสงให้พนักงานกวาดเขตดินแดงแล้วจำนวน 200 ชุด เริ่มใช้ในการปฏิบัติงาน ทดลองสวมใส่ 3 วัน/สัปดาห์ ในวันจันทร์ พุธ และวันศุกร์ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมจะจัดเก็บข้อมูลความคิดเห็นของผู้สวมใส่ชุดสะท้อนแสง รวมถึงผู้สัญจรผ่านไปมาในพื้นที่เขตดินแดง เพื่อนำผลจากการรับฟังความคิดเห็นมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการมากขึ้น เบื้องต้นมีเสียงสะท้อนทั้งบวกและลบ เช่น สีสะท้อนแสงได้ดีมองเห็นได้ชัดเจนจากระยะไกลทั้งกลางวันและกลางคืน สวมใส่สบาย แต่เนื้อผ้าค่อนข้างบาง ต้องสวมเสื้อรองพื้นซึ่งอาจทำให้ร้อน ขาดกระเป๋าใส่ของติดตัวระหว่างปฏิบัติงาน เปื้อน หรือสกปรกได้ง่าย เนื่องจากเป็นสีอ่อน ซึ่งจะได้หารือกับผู้ผลิตในการปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ก่อนดำเนินการผลิตในส่วนที่เหลือ เพื่อส่งมอบให้กับอีก 49 เขต เพื่อทดลองใช้พร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้สวมใส่และประชาชนผู้สัญจรอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นจะนำผลการประเมินเสนอผู้บริหาร กทม. พิจารณาความเหมาะสมในการปรับเป็นเครื่องแบบพนักงานกวาดต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังสามารถบริจาคขวดพลาสติกใส รวมถึงพลาสติกทุกชนิดเข้าสู่โครงการฯ เพื่อนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลโดยสามารถบริจาคได้ 52 จุด ทั่วกรุงเทพฯ ประกอบด้วยศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้าและดินแดง สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตได้ทุกวัน