In Bangkok

มุมมอง'ศานนท์'พัฒนาสุขภาพจิตคนกรุง ด้วยการเปิดทางเลือกให้กับเมือง



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯ ศานนท์ เปิดมุมมองพัฒนาสุขภาพจิตคนกรุง ด้วยการเปิดทางเลือกให้กับเมือง พร้อมสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสังคมแห่งการเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน 

(9 ต.ค. 65) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรพิเศษร่วมเสวนาหัวข้อ “Urban Mental Health - สุขภาพจิตคนกรุง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน” กับ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และนายอมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้ง & CEO ผู้ที่เป็นหลักในการขับเคลื่อน Sati App ในงาน “วันสุขภาพจิตโลก - Better Bangkok” ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องสุขภาพใจเป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องของคนป่วยหรือไม่ป่วย เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องฝึกไปด้วยกัน เมื่อพูดว่ามีคนป่วย จริงๆ แล้วเราลืมไปว่าเราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนป่วย การที่เรารับฟังไม่เป็น หรือว่าเราไม่เข้าใจเรื่อง Active Listening หรือการตัดสินผ่านโซเชียลมีเดีย เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดผู้ป่วย เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องของสังคมที่เราต่างคนต่างทำให้เกิด การสะท้อนกลับไม่ใช่การมีโรงพยาบาลที่มากขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วย มันต้องเป็นการศึกษาให้คนเข้าใจเรื่อง Space Active Listening 

อีกส่วนหนึ่งคือจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น ที่ผ่านมาพื้นที่ปลอดภัยจะเป็นการล้อมรั้วมากกว่าเปิดพื้นที่เพื่อสร้างความปลอดภัย การล้อมรั้วอาจสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่อยู่ข้างในแต่อาจจะสร้างความอึดอัดให้คนที่อยู่ด้านนอกก็ได้ 

การมีทางเลือกต่าง ๆ ในเมืองที่รัฐเป็นผู้ดูแลเป็นเรื่องสำคัญ กรุงเทพมหานครพยายามจัดกิจกรรมในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้เห็นว่าพื้นที่เรียนรู้มีมากกว่านั้น

กรุงเทพฯ เป็นมหานครขนาดใหญ่ การที่คนมาอยู่ร่วมกันเยอะๆ แน่นอนที่มีเรื่องของการบริหารจัดการที่ซับซ้อนขึ้น เช่น ที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะ พอคนอยู่กันเยอะขึ้นความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ หรือความเป็นชุมชนห่างหาย คนไม่ค่อยปฏิสัมพันธ์กัน คนรู้สึกโดดเดี่ยวกันมากขึ้น คนกับโลกห่างกันมากขึ้น 

กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ในการสร้างชีวิตระหว่างตึก ทำอย่างไรให้เกิดกิจกรรม เกิดพื้นที่สร้างสรรค์มากขึ้น  ให้คนออกมาใช้ชีวิตมากขึ้น และมีความสัมพันธ์แบบที่เคยมีในชนบทหรือชุมชน 

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวด้วยว่า การป้องกันก่อนที่จะเกิดเป็นเรื่องสำคัญต้องเริ่มจากโรงเรียน บางทีเราอาจอยู่ในสังคมเมืองที่ต้องแข่งขันกันมาก ตอนนี้กรุงเทพมหานครมีโรงเรียนนำร่อง 54 โรงเรียนเข้าสู่โรงเรียนนวัตกรรมทางการศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ มีการปรับตัววัดผลนักเรียนใหม่ไม่ให้ต้องแข่งขันกันมากไป ทำให้เด็กเป็น Active Learning มีวิชาที่ตอบโจทย์ของเด็กนักเรียนจริงๆ ทำให้รู้สึกสนุกขึ้น ไม่ต้องแข่งขันมาก ไม่รู้สึกต่ำต้อย ส่งเสริมให้ทุกคนมี Personal Life Learning แต่ละคนเป็นเลิศเรื่องอะไร ให้ทุกคนมีทางเลือกที่เป็นได้จริง มีกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้คนมีทางเลือกในการออกมาแสวงหาความสุข และสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้คนมีทางเลือกในการทำกิจกรรมวันเสาร์-อาทิตย์ได้ ที่สำคัญมากๆ คือการส่งเสริมและให้ความรู้กับทุกคนว่าคนที่ป่วยหรือมีภาวะนี้ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยากจะหลุดออกจากภาวะนี้เหมือนกัน และพวกเราเองก็อาจเป็นคนหนึ่งที่ทำให้มันแย่ลง ถ้าเรามีทักษะการเป็นผู้รับฟัง ผู้ช่วย มองว่าสังคมนี้ทุกคนอยู่ในโลกใบเดียวกันก็จะช่วยให้ดีขึ้นได้