In Thailand
ดูความคืบหน้าแผงกั้นทางรถไฟจุด19ศพ ชี้ของบฯล่าช้า-รฟท.เตะถ่วง/2ปีบ่มีไก๋
ฉะเชิงเทรา-สองขวบปีผ่านไป แผงกั้นรถไฟยังไม่เกิด ขณะชาวแขวงกลั่นหวั่นเกิดเหตุซ้ำรอยทัวร์กฐิน 19 ศพ ด้าน ปภ.ลงพื้นที่ ชี้แจงผู้นำชุมชนเผยติดขัดปัญหาด้านงบประมาณที่ต้องนำมาใช้มากถึงเกือบ 11 ล้านบาท รวมทั้งยังมีเงื่อนไขและข้อกำหนด ประกอบการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่จาก รฟท.ทำล่าช้า เผยล่าสุดหลายหน่วยงานยื่นมือแบ่งภาระด้านงบประมาณบ้างแล้ว
วันที่ 11 ต.ค.65 เวลา 09.30 น. ที่บริเวณป้ายหยุดรถ สถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น พื้นที่ ม.7 ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย นายสุวรรณ สิงห์พุทธา หัวหน้าฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นตัวแทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ฉะเชิงเทรา ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จ.ฉะเชิงเทรา
นายสุนทรวุฒิ สุพรหมมา นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สนง.ขนส่งฉะเชิงเทรา นายเอก อิทธิยาภรณ์ ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง อ.เมืองฉะเชิงเทรา นายชูชีพ สีลิ้นจี่ นายตรวจทางคลองบางพระ ตัวแทนในพื้นที่ จากการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมาทำการชี้แจงถึงความคืบหน้าของการก่อสร้างแผงกั้นทางข้ามทางรถไฟในบริเวณสถานีรถไฟบ้านคลองแขวงกลั่นแห่งนี้
หลังจากเมื่อวันที่ 11 ต.ค.63 ได้เกิดเหตุโศกนาฎกรรม ขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า ขบวนที่ 852 เลขหัวรถจักรที่ 5102 พุ่งชนรถบัสของนักแสวงบุญ ที่กำลังจะเดินทางไปร่วมกันทำบุญทอดกฐินยังที่วัดบางปลานัก ในพื้นที่ ม.10 ต.บางเตย ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงแค่ 4.5 กม.เท่านั้น จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในทันที 17 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บถึงกว่า 40 ราย และเสียชีวิตเพิ่มเติมในเวลาต่อมาอีก 2 รายรวม 19 รายนั้น
นายสุวรรณ ได้กล่าวชี้แจงว่า ที่ผ่านมาทางศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอน และได้ทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อที่จะขอใช้เงินกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) หรือกองทุนเลขทะเบียนสวย เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างเครื่องกั้นทางรถไฟ ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายแห่งนี้
แต่หลังการสำรวจและออกแบบแล้วพบว่าต้องใช้เงินงบประมาณมากถึงกว่า 10 ล้านบาท โดยทางกองทุนผู้ประสบภัยฯ เห็นว่าเป็นการใช้งบประมาณที่สูงเกินไป จึงพิจารณาเงินงบประมาณให้มาได้เพียง 7 ล้านบาท ขณะที่ทาง อบจ.ฉะเชิงเทรา รับที่จะเข้ามาดำเนินการปรับระดับถนนก่อนถึงจุดตัดทางข้าม ด้านละ 20 เมตรให้ แต่ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของทางการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกว่า
ในการก่อสร้างเครื่องกั้นจุดตัดทางข้ามรางรถไฟอย่างถาวรและถูกต้องตามกฎหมายนั้น ในรัศมี 4 กม. ของพื้นที่ก่อสร้างจะต้องไม่มีทางลักผ่านข้ามรางรถไฟที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอีก แต่ในพื้นที่จริงนั้น พบว่ายังคงมีจุดตัดทางข้ามอีกจำนวนมาก และมีการใช้เส้นทางผ่านมากในระดับที่ใกล้เคียงกันอีกหลายจุด เช่น จุดตัดทางข้าม ในพื้นที่ ต.คลองเปรง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ที่อยู่ในรัศมีไม่เกิน 4 กม. ด้วยเช่นเดียวกัน
ทางศูนย์อำนวยการความปลอดภัยฯ จึงได้พยายามที่จะเข้าไปขอผ่อนปนข้อกำหนดหรือเงื่อนไขต่างๆ จากทาง รฟท. เช่น ค่าควบคุมงาน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของทางการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงอยากขอให้ชาวบ้านรอเกี่ยวกับเรื่องของการปรับลดงบประมาณลงอีกเพียงส่วนหนึ่งก่อน เพื่อที่จะดำเนินการก่อสร้างแผงเครื่องกั้นทางรถไฟในบริเวณนี้ต่อไป นายสุวรรณ กล่าว
ขณะที่ นายประเทือง ชัยสายัณห์ กำนัน ต.บางเตย กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่หวั่นเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรมซ้ำรอยเมื่อปี 2563 อีก โดยล่าสุดเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมายังมีเหตุการณ์ที่ผู้ใช้ทางข้ามเกือบจะเกิดอุบัติเหตุหมู่บนจุดตัดทางข้ามแห่งนี้ซ้ำรอยเมื่อ 2 ปีก่อนอีกครั้ง แต่โชคดีที่เหตุการณ์นั้น สามารถผ่านไปได้อย่างเฉียดฉิว ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ นายประเทือง กล่าวต่อคณะที่มาร่วมประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ
ท่ามกลางผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมรับฟังถึงเกือบ 50 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต. เช่น นายรุทธพล สุรทรโชติ กำนัน ต.คลองเปรง นายประเทือง ชัยสายัณห์ กำนัน ต.บางเตย นายมณฑล นฤภัย รองนายก อบต.คลองเปรง นายไพศาล เพ็งพาณิช รองนายก อบต.บางเตย
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา