In Bangkok
'จักกพันธุ์'หาข้อยุติโรงงานขยะอ่อนนุช กำจัดขยะ800ตันส่งกลิ่นรบกวนชุมชน

กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ประชุมคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชน หาข้อยุติร่วมกันแก้ปัญหากลิ่นโรงงานกำจัดมูลฝอย 800 ตัน ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช
(18 ต.ค.65) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน ณ ห้องประชุมโรงงานฯ ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ
ในที่ประชุม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาโครงการฯ ชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปรับปรุงโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน ตามที่คณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบฯ ได้มีมติให้ดำเนินการใน 10 ประเด็น ได้แก่ 1.ปรับปรุงอาคารรับขยะให้เป็นระบบปิดทั้งหมด 2.ติดตั้งม่านพลาสติกเพิ่มบริเวณประตูทางเข้า-ออกรถขนถ่ายขยะ 3.ปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่นในอาคารต่างๆ ของโรงงาน จำนวน 2 ระบบ ในปริมาณ 100,000 ลบ.ม./ชม.โดยระบบบำบัดกลิ่นตัวที่ 1 รองรับอัตราการไหลของอากาศจากการรวบรวมอากาศในอาคารรับขยะและอาคารคัดแยกขยะในปริมาณ 65,000 ลบ.ม./ชม. ส่วนระบบบำบัดกลิ่นตัวที่ 2 รองรับการบำบัดในอาคารเตรียมหมัก ในปริมาณ 35,000 ลบ.ม./ชม. 4.เตรียมใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับทางคณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบฯ ซึ่งประกอบด้วยใบ รง.88 รง.89 และ รง.106 5.ปรับปรุงความเร็วของม่านอากาศที่ติดตั้งบริเวณประตูทางเข้าออกของอาคารรับขยะและอาคารเก็บขยะเชื้อเพลิง 3.1-4.8 m/s และ 2.6-4.2 m/s 6.การทดลองเดินระบบและการรับขยะเข้ามาทดสอบ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กำหนดให้บริษัทฯ ทดลองระบบรวบรวมและบำบัดกลิ่นเป็นเวลา 21 วัน และให้รับขยะเข้ากำจัดไม่เกิน 400 ตัน/วัน 7.บริษัทได้จัดทำรายงานความปลอดภัยของโรงงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีระบบต่างๆ ในการแจ้งเตือนและป้องกันเหตุเพลิงไหม้ 8.จัดทำตามตารางการทำงานและปรับปรุงการเดินรถขยะภายในโรงงาน เพื่อลดผลกระทบเรื่องเสียงในระหว่างการปฏิบัติงาน 9.การจัดการระบายน้ำ ภายในโรงงานโดยขุดลอกท่อระบายน้ำภายในโรงงาน เพื่อรองรับปริมาณฝน ไม่ให้กระทบต่อชุมชนโดยรอบ และ 10.จัดตั้งกลุ่มไลน์คณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนบริษัทฯ ผู้แทนประชาชน หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งความคืบหน้าการแก้ปัญหาและรับทราบข้อมูลต่างๆ จากผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด
ซึ่งในส่วนที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว อาทิ ปิดช่องรั่วไหลต่างๆ ของอาคารคัดแยกขยะ และอาคาร RDF เสร็จสิ้นทุกจุด ติดตั้งม่านพลาสติกเพิ่มเติมที่อาคารรับขยะ ปรับปรุงระบบบำบัดอากาศให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพครอบคลุมอาคารโรงงานเดิม และติดตั้งระบบโอโซนเพิ่มอีก 3 จุดในอาคารขยะเชื้อเพลิง ขุดลอกท่อระบายน้ำทั่วโรงงาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ สร้างคันดินใต้แนวกำแพง เพื่อป้องกันการระบายน้ำฝนไปกระทบประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ปรับระบบการจัดการเดินรถขยะและรถรับขยะเชื้อเพลิงโดยเข้าออกจากจุดเดียว และดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเสียงรบกวนให้แล้วเสร็จในเวลา 22.00 น. เป็นต้น
ทั้งนี้ในที่ประชุมผู้แทนประชาชน ได้ขอให้บริษัทฯ นำส่งข้อมูลความคุ้มครองการประกันภัยโรงงานให้ความคุ้มครองต่อบุคคลภายนอกเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ ขอให้บริษัทฯประสานนำนักพิสูจน์กลิ่นจากกรมอนามัยมาทดสอบกลิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบกลิ่นก่อนและระหว่างเดินระบบ ขอให้บริษัทฯ ติดตั้งระบบตรวจจับก๊าซรั่วไหลเพิ่มเติม
" ในการประชุมครั้งนี้ได้เห็นความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของโรงงานหลายส่วน แต่ก็ยังมีจุดที่ประชาชนต้องการให้ดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งมีทั้งที่ขอเพิ่มขึ้นมาใหม่ รวมทั้งในข้อเรียกร้องเดิมที่เคยมีการร้องขอเอกสารต่างๆ ดังนั้นเพื่อให้การแก้ปัญหาได้ข้อยุติ จึงได้ขอให้ประชาชนไปสรุปสิ่งที่ต้องการให้แก้ไขทั้งหมดหลังจากลงพื้นที่ดูการแก้ปัญหาของโรงงานในครั้งนี้ โดยให้สรุปเสนอมาที่ตนให้ครอบคลุมทั้งหมด เพื่อจะได้นำมาดำเนินการให้มีข้อยุติได้ เพื่อจะได้วางแผนจัดการขยะกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป " รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว
ในการประชุมวันนี้มี นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นายณัฎฐพล ปักษี ที่ปรึกษาโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและข้าราชการสำนักสิ่งแวดล้อม บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนประชาชนในชุมชนใกล้เคียง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมและให้ข้อมูลเพิ่มเติม