EDU Research & ESG
ยกเทคนิคแปดริ้วสู่วิทยาลัยเทคนิคชั้นนำ หลังทำสำเร็จนวัตกรรมเสริมการแพทย์
ฉะเชิงเทรา-ยก วท.ฉะเชิงเทรา เป็นวิทยาลัยเทคนิคชั้นนำระดับประเทศ หลังสนองตอบนโยบายคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้อย่างยอดเยี่ยม นำผลงานจากการประยุกต์ออกสู่สังคมและใช้งานได้จริงบ่อยครั้ง ล่าสุดยังได้ผุดนวัตกรรมด้านกายอุปกรณ์เสริมการทำงานทางการแพทย์ พร้อมส่งมอบคืนสู่การบริการผู้ป่วยติดเตียง เพื่อป้องกันบาดแผลกดทับได้อีกครั้ง
วันที่ 19 ต.ค.65 เวลา 11.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างพิธีการส่งมอบสิ่งประดิษฐ์จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเตียงนอนผู้ป่วยไฟฟ้าป้องกันแผลกดทับสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงให้แก่ รพ.พุทธโสธร ซึ่งเป็น รพงประจำ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ห้องประชุมวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ถ.มหาจักพรรดิ์ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมี ดร.นิรุตต์ บุตรแสนดี ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นตัวแทน ว่าที่ ร.ต.ดร.ธนุ วงศ์จินดา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ที่ติดราชการเดินทางร่วมไปกับคณะของ รมว.ศึกษาธิการ ยังที่ จ.เชียงราย ได้กล่าวชื่นชมต่อทางวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา แห่งนี้ว่า วท.ฉะเชิงเทรา เป็นวิทยาลัยเทคนิคชั้นนำของประเทศ ที่สามารถนำเอาสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนการสอน มาตอบสนองต่อนโยบายของทางคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับบโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้สถาบันการศึกษาด้านอาชีวะศึกษา สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อสนองตอบความต้องการของสังคมได้ และสามารถนำมาใช้งานได้จริงได้อย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งล่าสุดหลังจากเกิดปัญหาเด็กติดในรถตู้ ทาง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ยังได้มองมายังทางสถาบันการศึกษาอาชีวะ ว่าจะต้องไปคิดนวัตกรรมเพื่อเอาไว้ป้องกันไม่ให้เด็กติดอยู่ในรถตู้ได้อีก ขณะที่มีข่าวเหตุการณ์ความเศร้าสลดใจของคนไทยที่ จ.หนองบัวลำภู ทางรัฐมนตรียังได้ออกนโยบายว่า ให้อาชีวะไปคิดนวัตกรรมที่จะแสกนหรือการควบคุมบุคคลภายนอกไม่ให้ผ่านเข้ามาได้ เพื่อเป็นการป้องกันความปลอดภัยในสถานศึกษา จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาชีวะสร้างชาติ ที่จะนำมาแก้ไขปัญหาในเรื่องสำคัญต่างๆ
และสำหรับวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา นั้น ได้มีผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงเป็นจำนวนมากหลายชิ้น จึงถือเป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาที่สามารถประดิษฐ์นำออกมาใช้งานได้จริง ไม่ได้ถูกนำไปพับเก็บไว้บนหิ้งเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้และทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้ และถือเป็นแรงผลักดันที่จะช่วยขับเคลื่อนพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดีต่อไป
โดยที่ผลงานสิ่งประดิษฐ์ของวิทยาลัยด้านอาชีวศึกษานั้นมีไม่น้อยกว่า 1 หมื่นชิ้นต่อปี และมีนักศึกษาทั่วประเทศในแต่ละปีทั้ง 7 ชั้นปีเกือบ 1 ล้านคน แต่เรายังขาดงบประมาณที่จะมาร่วมสนับสนุน และยังขาดพาร์ทเนอร์ที่จะมาร่วมเติมเต็มผลงานให้ก้าวต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ ดร.นิรุตต์ กล่าว
ขณะที่ พญ. สุกัญญา ทองชัยประสิทธิ์ รอง ผอ.รพ.พุทธโสธร กล่าวว่า ที่ผ่านมาวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา สามารถสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนการบริการทางการแพทย์ได้บ่อยครั้ง จำนวนหลายชิ้น โดยผลงานชิ้นล่าสุดก่อนหน้าเป็นรถเข็นอาหารผู้ป่วยระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ที่ได้รับการส่งมอบให้มาเมื่อเกือบ 2 ปีก่อนนั้น ยังสามารถใช้งานได้ดีและยังใช้งานอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้
เนื่องจากบุตคลากรสามารถทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และบริการอาหารให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างตรงเวลา และยังเป็นการรักษาสุขภาพของบุคลาการด้านโภชนาการ ที่เดิมนั้นจะต้องเข็นรถส่งอาหารที่มีน้ำหนักมาก ด้วยตนเองจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพ จึงถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำประโยชน์ต่อทาง รพ.พุทธโสธร ได้เป็นอย่างมาก ขณะที่เตียงไฟฟ้าป้องกันแผลกดทับนี้ ถือเป็นกายอุปกรณ์ที่ทาง รพ.มีความต้องการเป็นอย่างมาก
เนื่องจากสถิติผู้ป่วยในปัจจุบันนั้นเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่มีอัตราผู้ป่วยสูงอายุสูงเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และมีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ป่วยสโตรก ผู้ป่วยติดเตียงจำนวนมาก จึงถือเป็นนวัตกรรมที่จะนำมาทำประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อใช้ในการป้องกันได้เป็นอย่างดีอีก 1 ชิ้น จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ทั้งยังมีราคาถูกกว่าการสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายโดยตรงหลายหมื่นบาทด้วย พญ. สุกัญญา กล่าว
สำหรับการส่งมอบสิ่งประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนทางการแพทย์ในวันนี้ ได้มี นายธีรวัฒน์ บุญสม ผอ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนเงินงบประมาณ ได้เดินทางมาร่วมพิธี โดยมีว่าที่ พ.ต.วัชรพล ลักษณลม้าย ผอ.วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา เป็นผู้ส่งมอบ พร้อมร่วมกันลงนามบันทึกการส่งมอบนวัตกรรมรวม 4 ฝ่าย
จากนั้นได้มีการสาธิตการใช้งานเพื่อให้สักขีพยานได้เห็นถึงผลงานนวัตกรรมประยุกต์ ที่สามารถจับต้องได้ในราคาไม่แพง และสามารถตอบสนองการใช้งานได้ดี ทั้งยังมีระบบการควบคุมที่ทันสมัย สามารถตั้งค่าการควบคุมผ่านทางแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย ขณะที่ญาติหรือบุคลากรทางการแพทย์ ยังสามารถดูแลผู้ป่วยและสังเกตอาการในระหว่างการรักษาได้ โดยตลอดเวลาผ่านทางกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่บนเตียงผู้ป่วยนี้อีกด้วย
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา