Travel Sport & Soft Power
ชาวประสุขรวมกลุ่มทอผ้าฝ้ายลายน้ำฝน ด้วยกี่กระตุกมีอัตลักษณ์ทำรายได้สู้โควิด
นครราชสีมา-ชาวบ้านตำบลประสุขโคราช รวมกลุ่มทำการทอผ้าฝ้ายลายน้ำฝน ด้วยกี่กระตุก ที่มีอัตลักษณ์ สร้างรายได้สู้โควิด 19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สตรีในหมู่บ้านโนนระเวียง ม.15 ต.ประสุข อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ได้รวมกลุ่มกันพัฒนาอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวหลังจากการทำนา เพราะสมาชิกมีพื้นฐาน ความชำนานในการทอผ้าอยู่บ้างแล้ว ด้วยการทอผ้าฝ้ายลายน้ำฝน ด้วยกี่กระตุก ที่มีอัตลักษณ์ ความสวยงามของลายผ้า ส่งขายและรับทอผ้าตามออเดอร์จากผู้สนใจ รวมทั้งได้ร่วมจำหน่ายในกิจกรรมเทศกาลต่าง ๆของอำเภอ ในราคาไม่แพง
นางสมบัติ รื่นเริง อายุ 51 ปี หนึ่งในกรรมการกลุ่มสตรีทอผ้าด้วยกี่กระตุก เปิดเผยว่า กลุ่มทอผ้าฝ้ายลายน้ำฝน ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านกราดโนนระเวียง หมู่ 15 ต.ประสุข อ.ชุมพวง เมื่อปีพ.ศ 2537 ได้จัดตั้งขึ้นเป็นกลุ่มสตรีในชุมชน มีผู้สมัครเข้าร่วมกลุ่มจำนวน 20 คน และเก็บเงินคนละ 200 บาทเพื่อนำไปซื้อด้าย ส่วนกี่ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับทอผ้านั้น ได้ทำการยืมมาจากกลุ่มสตรีบ้านตาจง ตำบลตลาดไทร อำเภอชุมพวง มาทั้งสิ้นจำนวน 4 หลัง ต่อมาเมื่อปี 2538 หน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนได้เข้ามาสนับสนุน โดยการนำวิทยากรเข้ามาฝึกสอนและจัดหางบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ทอผ้า ไม่ว่าจะเป็นกี่กระตุก เครื่องสาวด้าย ฟันหวี กระสวย และอุปกรณ์ทอผ้าอื่นๆอีกมากมายจนสามารถผลิตผ้าลายน้ำฝนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผ้าฝ้ายทอ (ลายน้ำฝน) คือลายผ้าประจำถิ่น ถือกำเนิดจากความคิดที่จะพัฒนาและปรับปรุงให้ผ้าทอนั้นสามารถนำมาตัดเย็บและทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย จึงเป็นที่มาของลายผ้าน้ำฝน โดยจะมีจุดเปลี่ยนเมื่อมองไกลๆจะเห็นเป็นผ้าที่เคลือบสีและแสงได้อย่างมีเสน่ห์และแปลกตา และเมื่อเข้ามามองอยู่ใกล้ๆก็จะพบกับความปราณีตบรรจงของการใช้เส้นด้ายขนาดเล็กพิเศษที่เหมาะและนำไปผลิตได้หลากหลายผลิตภัณฑ์ อาทิ เสื้อคลุม กระโปรง กระเป๋า เป็นต้น
นายไพรัช วิทยานุมาศ นายอำเภอชุมพวง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ผ้าลายน้ำฝนเป็นของขึ้นชื่อของตำบลประสุข เป็นอัตลักษณ์ที่ไม่มีที่ไหนเหมือน โดยผ้านั้นมีจุดเด่นเป็นรายน้ำฝน เหมือนสายฝนที่โปรยปรายลงมา อีกทั้งเป็นผ้าที่ราคาไม่แพง ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของพื้นบ้าน โดยทางอำเภอได้มีการส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถีและเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในชุมชน โดยต้องการที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้และอยู่อย่างพอเพียง
ณัฐพงศ์ อรชร/ข่าวนครราชสีมา