EDU Research & ESG

CEA เข้าร่วมประชุมเวทีระดับโลก WCCE ดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก



กรุงเทพฯ-สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมประชุม World Conference on Creative Economy (WCCE) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคม 2565 ณ เมืองบาหลี โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพการประชุม ซึ่ง CEA ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี  มุ่งนำผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมมาต่อยอดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

การประชุม WCCE ครั้งที่ 3 นี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การสร้างสรรค์อย่างครอบคลุม: การฟื้นฟูระดับโลก” (Inclusively Creative : A Global Recovery) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้ง 5 ฝ่าย ได้แก่ 1)รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบายหรือองค์การระหว่างประเทศ 2) นักวิชาการ 3) องค์กรเอกชน 4) ชุมชน และ 5) สื่อมวลชน นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ยั่งยืนในระดับสากล รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ฟื้นฟูโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 สำหรับร่างเอกสารวาระบาหลี 2022 ที่จะมีการรับรองในการประชุมครั้งนี้

ทั้งนี้ CEA ได้ร่วมประชุมและเสวนาในประเด็น “เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก” (Creative Economy for Global Revival) โดย ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ภาพรวมของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand’s Creative Economy Overview) และ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยท่ามกลางโรคระบาดอุบัติใหม่ (Thailand’s Creative Economy after the Pandemic)

ภาพรวมของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand’s Creative Economy Overview) 

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ถ่ายทอดมุมมองว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.5% ของ GDP ประเทศไทย มีอัตราการจ้างงานสูงถึงกว่า 9 แสนคน และระหว่างปี 2555 - 2563 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยทบต้น 1.23 % ต่อปี ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และวิกฤตโควิด-19 นี้ ประเทศไทยมีมรดกและทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและสามารถแข่งขันได้ 

ที่ผ่านมามีการนำทุนทางสังคมและวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่าน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ไทยมีต้นทุนและมีความพร้อมที่สุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในกระบวนการออกแบบ (Creative Services) ได้แก่ โฆษณา และ การออกแบบ กลุ่มอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content & Media) ได้แก่ ซอฟต์แวร์ (เกม และ แอนิเมชัน) โดย CEA จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมข้างต้น เพิ่มศักยภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยท่ามกลางโรคระบาดอุบัติใหม่ (Thailand’s Creative Economy after the Pandemic)

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ชี้ให้เห็นภาพว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยหลังโควิด-19 ต้องเร่งฟื้นฟูเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจภาพรวม โดยต้องอาศัยหลายปัจจัย ได้แก่ 1) สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม (Cultural Asset) 2) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และ 3) เทคโนโลยี (Technology ) ดังนี้

  • การส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเมืองสร้างสรรค์และสินค้าตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Empowering Creative Cities and Geographical Indication Assets) โดยชูสินทรัพย์ล้ำค่าที่โดดเด่นของแต่ละพื้นที่ มาเป็นตัวขับเคลื่อนการนำร่องการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ผ่านโครงการเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN) ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 33 ย่านทั่วประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรมร่วมสร้างสรรค์ (Co-Create) ร่วมกับเครือข่ายพื้นที่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน นอกจากนี้ยังมี 5 ย่านต้นแบบที่ CEA ร่วมผลักดัน ได้แก่ ย่านช้างม่อย จ.เชียงใหม่ ย่านศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ ย่านเจริญเมือง จ.แพร่และย่านเมืองเก่าสงขลา จ.สงขลา โมเดลต้นแบบเหล่านี้เป็นแนวทาง เพื่อการพัฒนาย่านหรือเมืองอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต 

“อย่างไรก็ตามการจะพัฒนาให้แต่ละเมืองเป็นเมืองสร้างสรรค์ได้ ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ยังต้องการสิ่งดึงดูดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น อย่างสินค้าตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้อมูลจากปี 2564 ชี้ให้เห็นว่า ยอดขายผลิตภัณฑ์ GI มีมูลค่ามากกว่า 7 พันล้านบาท และสินค้า GI ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ข้าว CEA จึงมุ่งส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ โดยการใช้นวัตกรรม และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์”

นอกจาากนี้ CEA ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย ผ่านแพลตฟอร์มเทศกาลสร้างสรรค์ครอบคลุมทั้ง 3 ภูมิภาค เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week) เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) และเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ (Isan Creative Festival) สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่า 2.9 พันล้านบาท และผู้เข้าร่วมชมเทศกาลฯ กว่า 1.6 ล้านคน ในระหว่างปี 2563 - 2565 

  • พัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของธุรกิจสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรม (Integrating Technology and Innovation to Improve Business Competitiveness) เร่งพัฒนาโมเดลธุรกิจ ที่ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของโลกและพฤติกรรมของผู้บริโภค ผลักดันให้ผู้ประกอบการเพิ่มการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการลดข้อจำกัดทางธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กระตุ้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ปกป้องและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ยังจะยกระดับเครือข่าย สถาบันการศึกษาในการพัฒนา เตรียมความพร้อมแรงงานสร้างสรรค์ให้พร้อมสำหรับโลกอนาคตที่กำลังจะมาถึง ตลอดจนส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสินค้าหรือบริการ และยกระดับทักษะสร้างสรรค์ของคนไทย สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานสร้างสรรค์

  • พัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์สร้างสรรค์ของไทยภายใต้บริบทใหม่ (Commercializing Creative Content Business) ใช้กลุ่ม Creative Content ที่มีศักยภาพ เป็น Soft Power ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะตลาดที่กำลังเติบโตสูงในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น โดยในการพัฒนาอุตสาหกรรม Creative Content นั้น มีประเด็นปัญหาสำคัญคือ ด้านการตลาดที่ขาดการเชื่อมต่อสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะกลุ่ม OTT (Over the Top) ซึ่งเป็นมาตรฐาน - 

ใหม่ของการเผยแพร่คอนเทนต์ ผู้ผลิตส่วนใหญ่ขาดข้อมูล Global Consumer Insights ในการทำคอนเทนต์ที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศ ทำให้คอนเทนต์ที่ผลิตส่วนใหญ่ขาดความหลากหลาย และตอบโจทย์สากล และในด้านกำลังผลิต อีกทั้งยังขาดแคลนนักสร้างสรรค์ระดับสากล ทั้งนักเขียนบท โปรดิวเซอร์ และ ผู้กำกับ ดังนั้น CEA จึงเร่งส่งเสริมศักยภาพของแรงงานกลุ่มดังกล่าว ภายใต้โครงการ “Content Lab” โดยร่วมมือกับ Netflix ประเทศไทยและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในการร่วมกันบ่มเพาะนักสร้างสรรค์ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาศักยภาพให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดต่างประเทศ