In News
ช่วงโควิดชู'ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์' ศาลยธ.ช่วยปชช.ไม่ต้องเดินทางมาศาล
กรุงเทพฯ-ศาลยุติธรรมชู “ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์” ช่วงโควิดอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดย ไม่ต้องเดินทางมาศาล
นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้กำหนดนโยบายในการสนับสนุนและพัฒนาระบบ “ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์” โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่คู่กรณีหรือคู่ความในการยุติข้อพิพาท ไม่ว่าจะเป็น
การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 20 ตรี ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563ที่ผ่านมา หรือการไกล่เกลี่ยภายหลังจากที่มีการยื่นฟ้องคดี ซึ่งเป็นการไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาคดีนั้น โดยขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันได้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล ไม่กล้าออกจากบ้าน ศาลยุติธรรมจึงได้นำระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์มาใช้ในการยุติหรือระงับข้อพิพาทควบคู่กับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามปกติและการพิจารณาคดีในศาล เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดความแออัดในการใช้ห้องประชุม ลดการเผชิญหน้า โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาศาล อีกทั้งยังทำให้คู่กรณีหรือคู่ความสมัครใจและเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมากขึ้น
สำหรับคู่กรณีหรือคู่ความที่ประสงค์จะให้ศาลดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์นั้น สามารถยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือต่อศาลที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ทั้งนี้ ยังสามารถยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องออนไลน์และคำร้องขอไกล่เกลี่ยหลังจากที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว ผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (cios) โดยเข้าไปที่เว็บไซด์ https://mediation.coj.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมผ่านทาง Line openchat ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง และถ้าเป็นระบบ e–filing V3 ( เวอร์ชั่น 3 ) สามารถเลือกขอไกล่เกลี่ยได้เมื่อมีการยื่นฟ้องแล้ว และเมื่อศาลรับคำร้องและตั้งเป็นสำนวนไกล่เกลี่ย ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำศาลจะสอบถามความประสงค์ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและวันเวลาที่สะดวกในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไปยังผู้ถูกร้อง พร้อม QR Code ในการตอบรับการเข้าร่วม เมื่อคู่ความหรือผู้ถูกร้องตอบรับเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยแล้ว ศาลจะดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านจอภาพหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆตามความสมัครใจของคู่กรณีหรือคู่ความ ไม่ว่าจะเป็น การประชุมทางโทรศัพท์ , Video/Web Conference , แอปพลิเคชั่น Line , โปรแกรม Zoom , โปรแกรม Microsoft Teams และหากคู่กรณีหรือคู่ความสามารถตกลงกันได้ ศาลจะดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามวันเวลาที่คู่กรณีหรือคู่ความสะดวกมาศาลต่อไป
ทั้งนี้ ในการให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ ศาลยุติธรรมได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา โดยจากรายงานสถิติการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทคดีออนไลน์ (คดีแพ่ง คดีผู้บริโภค และคดีอาญา) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563
ถึงเดือนกันยายน 2563 พบว่ามีปริมาณคดีที่เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ทั้งหมด 22,824 คดีสามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 19,531 คดี (คิดเป็นร้อยละ 85.57) มีศาลที่ดำเนินการทั้งหมดจำนวน 221 ศาลและในปีงบประมาณพ.ศ. 2564 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงปัจจุบัน (18 มกราคม 2564)
มีปริมาณคดีที่เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ทั้งหมด 12,807 คดี สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 11,153 คดี (คิดเป็นร้อยละ 87.09) และมีศาลดำเนินการทั้งหมด 229 ศาล
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ นับได้ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคู่กรณีและคู่ความที่จะได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายทางคดี และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยนำเทคโนโลยีออนไลน์มาช่วยสนับสนุน อีกทั้งยังสอดรับนโยบายการบริหารงานศาลยุติธรรม ของนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ในเรื่องของการลดขั้นตอน ลดภาระค่าใช้จ่ายลดระยะเวลาในการดำเนินคดี และให้โอกาสประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคทั่วถึง โดยสำนักงานศาลยุติธรรมตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการใช้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์อีกด้วย