H&B News

สถาบันแบลคมอร์ส(ประเทศไทย)ร่วมงาน การเสวนา TechnoMart 2022



กรุงเทพฯ-สถาบันแบลคมอร์สชี้เทรนด์การดูแลสุขภาพ โอกาสทองนักวิจัยไทยผู้จัดการด้านการศึกษา สถาบันแบลคมอร์ส ชี้ไทยมีต้นทุนที่ดีเรื่องของสมุนไพรแนะนักวิจัยเร่งศึกษาความต้องการของตลาดตามเทรนด์การดูแลสุขภาพวิจัยหาสารสกัดใหม่ๆหรือพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้นพร้อมจดสิทธิบัตรและตีพิมพ์ผลงานวิจัยเปิดทางภาคอุตสาหกรรมนำไปต่อยอดจากงานเสวนาหัวข้อ Functional Ingredients : Thailand Opportunity ในงาน TechnoMart2022 จัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ดร.ภญ.อโนมา เจริญทรัพย์ ผู้จัดการด้านการศึกษา สถาบันแบลคมอร์ส ประเทศไทยกล่าวว่า โอกาสของนักวิจัยไทยที่จะช่วยพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืนนั้น ขณะนี้โลกอยู่ในสังคมของผู้สูงอายุโดย 10-20 ปีข้างหน้าผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุอยู่อย่างมีคุณภาพ 4ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยอายุยืนยาว ประกอบด้วย 4อ. อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ เอน(นอนหลับ) สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของอาหารเดิมมีแนวคิดว่ากินอะไรได้อย่างนั้น แต่ระยะหลังจะเปลี่ยนเป็นยีนอย่างไรต้องกินอย่างนั้น หรืออาหารที่อาจปรับเปลี่ยนยีนดังนั้นอาหารจึงจะมาในรูปแบบ Functional Ingredients หรือ Natural Supplementsเนื่องจากการทานอาหารของคนส่วนใหญ่ไม่สามารถได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นักวิจัยจะต้องค้นคว้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเปิดมุมมองในเรื่องของเทรนด์การดูแลสุขภาพ

สำหรับเทรนด์การดูแลสุขภาพ ประกอบด้วย การมีอายุยืนยาว (Longevity) สังคมสูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Societal changes) โดยด้านการมีอายุยืนยาว (Longevity)ในปัจจุบันมีงานวิจัยในกลุ่ม Longevity มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ingredients ใหม่ๆ หรือ ingredients
ที่มีอยู่แล้วมาวิจัยต่อยอดเพื่อให้ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น ส่วนด้านสังคมสูงอายุ ซึ่งอาจเจอปัญหาโรคต่างๆ เช่นความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ เบาหวาน กระดูกพรุน เป็นต้นนับเป็นโอกาสที่ดีที่จะนำงานวิจัยสมุนไพรและสารอาหารจากพืชท้องถิ่นออกสู่ตลาดปัจจุบันมีงานวิจัยและแนวโน้มการรักษาด้วยสารอาหารในโรคเหล่านั้นมากขึ้น โดยเฉพาะโรคบางอย่างซึ่งอาจยังไม่มียาหลักในการรักษา เช่น ภาวะจอประสาทตาเสื่อม มูลนิธิโรคจอประสาทตาเสื่อมสหรัฐอเมริกา (American Macular Degeneration Foundation) แนะนำให้ผู้ป่วยใช้สารต้านอนุมูลอิสระ เช่นวิตามินซี อี ธาตุสังกะสี ร่วมกับสารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ลูทีน ซีแซนทีน ตลอดจนแนะนำน้ำมันปลาที่มีส่วนประกอบสำคัญคือ กรดไขมันโอเมก้า 3 สำหรับผู้ที่ไม่ทานปลา อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงเช่น ผัก ผลไม้หลากสี เนื้อสัตว์ เช่น หอยนางรมจะมีธาตุสังกะสีอยู่สูง ส่วนดอกดาวเรืองมีลูทีนสูงซึ่งสามารถนำมาสกัดให้ได้สารสำคัญได้

ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Societal changes)ก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาของสุขภาพได้เช่นกัน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การใช้ชีวิตที่เร่งรีบทำให้ผู้คนรับประทานอาหารจังก์ฟู้ด ของทอด ของมัน ส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนมีผลเสียต่อสุขภาพซึ่งมีสมุนไพรไทยหลายตัวมีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนัก เช่น ดอกคำฝอย กระเจี๊ยบแดง พริก เป็นต้นปัญหาสุขภาวะทางจิต ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสังคมปัจจุบันจากรายงานพบว่าประชากรมีปัญหานี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-29 ปีเนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยี สังคมมีการแข่งขันสูง ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความเครียด วิตกกังวลนอนไม่หลับ จากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า สมุนไพรหลายชนิด เช่น โสมอินเดีย ชุมเห็ดไทยขี้เหล็ก ช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าวได้

ในปัจจุบันไม่แนะนำใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เนื่องจากอาจเกิดการดื้อยาซึ่งสมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและต้านไวรัสโดยไม่ก่อให้เกิดการดื้อยาที่มีการใช้แพร่หลายในการรักษาหวัด หรือการติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร เอ็คไคนาเซียเป็นต้น เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่นักวิจัยไทย อาจวิจัยสมุนไพรอื่นๆ นอกจากนี้ งานวิจัยด้านอื่นๆที่มีแนวโน้มความต้องการมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับประทานยาบางประเภทอาจทำให้สารอาหารในร่างกายลดลงดังนั้นนักวิจัยอาจทำการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดเป็นอาหารสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเฉพาะเพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายขณะที่ได้รับยาเหล่านั้น

ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีสมุนไพรหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์นักวิจัยไทยอาจวิเคราะห์สารสกัดใหม่ หรือพัฒนาต่อยอดของเดิมให้ดีขึ้นและตีพิมพ์ผลงานวิจัยนั้นๆในระดับนานาชาติเพื่อเป็นการเปิดทางให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปต่อยอดและก้าวเข้าสู่ตลาดโลก สำหรับสถาบันแบลคมอร์สจะเน้นเรื่องของงานศึกษาและวิจัยเป็นหลักโดยในส่วนงานด้านการศึกษามีหลักสูตร Complementary Medicines Education(CMEd) ซึ่งเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องโภชนเภสัชภัณฑ์ เช่น สารอาหาร สมุนไพรและอื่นๆ

โดยสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการเสริมหรือร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันออกแบบสำหรับเภสัชกร โดยเฉพาะเภสัชกรชุมชนซึ่งเป็นบุคลากรด่านหน้าที่ผู้ป่วยมารับคำปรึกษาหลักสูตรนี้จะเน้นกรณีศึกษาควบคู่กับการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการปฏิบัติส่วนด้านงานวิจัยจะมีการศึกษาข้อมูลส่วนประกอบของสารอาหารและสมุนไพรจากทั่วโลกที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพต่างๆได้และสถาบันฯพร้อมสนับสนุนผลงานของนักวิจัยไทยและเชื่อว่าการที่ประเทศมีทรัพยากรหลากหลายความรู้ความสามารถของนักวิจัยไทยจะทำให้ได้ผลงานวิจัยใหม่ๆที่มีคุณค่าเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

รูป Photo 2 : บุคคลในภาพจากซ้ายไปขวา
1. ศ.ดร.ภาวิณี ชินะโชติ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย
2. ดร.ภญ.อโนมา เจริญทรัพย์ ผู้จัดการด้านการศึกษา สถาบันแบลคมอร์ส ประเทศไทย
3. รศ.ดร.เนติ วระนุช อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ ม.นเรศวร

4. รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ม.นเรศวร
5. ศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น