EDU Research & ESG

มรส.เสนอผลิตภัณฑ์ชุมชนหวังส่งออกสินค้าสู่ตลาดนานาชาติ



สุราษฎร์ธานี-มรส. นำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านการวิจัยและพัฒนาหวังส่งออกสินค้าสู่ตลาดนานาชาติ โดยขมิ้นและถ่านอัดแท่งจากกะลามะพร้าวตอบโจทย์ความต้องการ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี พร้อมด้วย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ และเครือข่ายสังคม และ ผศ.ดร.นรา พงษ์พานิชผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ให้การต้อนรับ และนำเสนอผลิตภัณฑ์จากชุมชนแก่ Mr. Shahnawaz Hussein Khan ผู้ประกอบการจาก Louvinium Group Spain หวังส่งออกสินค้าชุมชนสู่ตลาดนานาชาติ พร้อมรับคำแนะนำแนวทางการรองรับงานวิจัยและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และชี้ช่องทางการส่งออกสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีมาตรฐานและถูกต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าระดับโลก โดยสินค้าที่มีส่วนผสมหรือผลิตจากขมิ้น ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นธรรมชาติสูง ตลอดถ่านจากกะลามะพร้าว ได้รับความสนใจในครั้งนี้

ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ได้ให้การสนับสนุนพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน ซึ่งในตอนนี้มีสินค้าที่ได้รับการพัฒนาเป็นจำนวนมากและมีศักยภาพสูงสามารถต่อยอดการตลาดเชิงพาณิชย์ ได้อย่างแท้จริง เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มหาวิทยาลัยยังคงให้การสนับสนุนต่อยอดการผลิตด้วยการส่งเสริมหาตลาดโดยเฉพาะผู้แทนจากต่างประเทศ เพื่อได้ทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะตลาดยุโรปและตลาดประเทศจีน ที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและประเทศไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ค่อนข้างสูง โดยเบื้องต้นสินค้าที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน และผ่านการวิจัยและพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเป็นตัวนำร่องในการส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงการค้าวิสาหกิจเพื่อสังคม

สำหรับสินค้าที่ได้รับความสนใจจากการนำเสนอครั้งนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือมีส่วนผสมจากขมิ้น  เช่น เครื่องแกงส้ม ภายใต้แบรนด์ KAMINYA แกงส้มกบ สบู่ขมิ้น  ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร เช่น ต้มโคล้งปลาเม็งยำปลาเม็ง และถ่านอัดแท่งจากกะลามะพร้าว ซึ่งต่อจากนี้มหาวิทยาลัยจะเป็นสื่อกลางในการสนับสนุนส่งเสริม การพัฒนา ยกระดับผลิตภัณฑ์จากชุมชนท้องถิ่นสู่กระบวนการเชิงพาณิชย์ระดับนานาชาติต่อไป