In News

โควิดพ่นพิษกลุ่มศิลปินพื้นบ้านลำบาก งานหายวอนผู้ว่าฯมหาสารคามผ่อนปรน



มหาสารคาม-โควิด-19 พ่นพิษ กลุ่มศิลปินพื้นบ้าน มหาสารคาม งานถูกยกเลิก วอนจังหวัดผ่อนปรน มหาสารคาม 

วันที่ 18 ม.ค. ที่ห้องประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพศิลปิน นักร้อง หมอลำ แดนซ์เซอร์ นักดนตรี เวทีเครื่องเสียง และรถแห่ในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผวจ.มหาสารคาม หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด19 ระบาดรอบสอง โดยมีนายชูชาติ ราชจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้รับหนังสือ ก่อนจะเข้าร่วมพูดคุยหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

สำหรับหนังสือร้องทุกข์ระบุว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มศิลปิน หมอลำ แดนซ์เซอร์ นักดนตรี เวทีเครื่องเสียง และรถแห่ในจังหวัดมหาสารคามเป็นอย่างมาก งานจ้างถูกยกเลิก ทั้งที่เจ้าภาพได้ว่าจ้างเอาไว้ก่อนหน้านี้ สาเหตุเพราะเจ้าภาพไม่สามารถที่จะขออนุญาตจัดงานจากหน่วยงานราชการ นายอำเภอ ผู้นำชุมชน กำนันและผู้ใหญ่บ้าน โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งที่สถานบันเทิงต่าง ๆ ผับ บาร์ ร้านอาหาร ตลาดนัด ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ซึ่งไม่ต่างกันกับการจัดงานที่มีการแสดงของศิลปินนักร้องหมอลำ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มศิลปิน นักร้อง หมอลำและทีมงานในงานงานบันเทิงขาดรายได้จำนวนมาก จนส่งผลให้เกิดปัญหาภาระหนี้สินตามมา และส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน จึงได้รวมตัวกัน เพื่อขอความชัดเจนในการอนุญาตจัดงานและหาแนวทางในการแก้ปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อน โดยขอให้ผ่อนปรนเปิดการแสดงสำหรับงานที่รับมัดจำจากเจ้าภาพไว้แล้ว

นายชูชาติ ราชจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพของศิลปิน นักร้อง หมอลำ แดนซ์เซอร์ นักดนตรี เวทีเครื่องเสียง และรถแห่ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม หลังการรับหนังสือได้มีการหารือร่วมกันกับผู้ได้รับความเดือดร้อน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งฝ่ายปกครอง โดยทางกลุ่มผู้เดือดร้อนได้ขอให้สามารถเปิดการแสดงได้ ภายใต้เงื่อนไขมาตรการควบคุมโรคด้านสาธารณสุข ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจถึงความเดือดร้อน โดยขอให้ผ่อนปรนเปิดการแสดงสำหรับงานที่รับมัดจำจากเจ้าภาพไว้แล้ว โดยจะมีการทำรายละเอียดชี้แจง ในการขออนุญาตกับฝ่ายปกครองการแสดงว่าจะออกมาในรูปแบบไหน อาทิ การแสดงหมอลำ การแต่งตัวจะมิดชิด ไม่เล่นหรือแสดงไปในทางปลุกใจ ส่วนรถแห่จะแสดงอยู่กับที่ โดยเจ้าภาพจะต้องจัดหาพื้นที่ไว้ให้ มีการสแกนแอฟไทยชนะ เล่นเพลงไม่ปลุกเร้าจนเกินไป เป็นต้น ซึ่งจะได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป


พิเชษฐ  ยากรี /มหาสารคาม