In Bangkok

กทม.เตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสธ. รองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5



กรุงเทพฯ-สำนักการแพทย์ กทม.เตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม.เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้เตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงวิกฤต รวมทั้งเตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ และหน้ากากอนามัย เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองและติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็นหากมีการรายงานค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีมาตรการ ดังนี้ (1) ฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของตึกที่ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดภาวะฝุ่นละออง PM2.5 ในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล (2) เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่นละออง PM2.5 เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (3) สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัด กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศที่โรงพยาบาลตากสิน วันจันทร์-วันอังคาร และวันพฤหัสบดี-วันศุกร์ เวลา 09.00 - 12.00 น. โรงพยาบาลกลาง วันอังคารและวันศุกร์ เวลา 08.00 - 12.00 น. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ วันพุธ เวลา 13.00 - 15.00 น. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ วันอังคาร เวลา 08.00 - 16.00 น. และโรงพยาบาลสิรินธร วันอังคาร เวลา 13.00 - 15.30 น. เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 ตลอดจนจัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพผ่านสายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน (ห้องเรียนสู้ฝุ่น) เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 และเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา ครู และนักเรียนในการรับมือกับฝุ่นละออง PM2.5 รวมทั้งสร้างจิตสำนึกการไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยจะเปิดโครงการวันที่ 28 ต.ค.นี้ ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) นอกจากนี้ โรงเรียนในสังกัด กทม.จะจัดกิจกรรมปักธงคุณภาพอากาศ เพื่อเสริมสร้างทักษะให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจสถานการณ์มลพิษทางอากาศ รวมถึงสามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้คนในครอบครัว เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทันท่วงที อีกทั้งร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเครือข่ายนักวิจัย กำหนดจัดเสวนาวิชาการ “เตรียมพร้อมรับมือ PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ในวันที่ 4 พ.ย.65 เวลา 09.00-12.00 น. เพื่อรับฟังความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เหมาะสมกับบริบทของ กทม.ให้ครอบคลุมทั้งมิติของแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 การกำจัดที่ต้นตอ การป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยประชาชน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ข้อเสนอแนะอื่นทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศผ่านเว็บไซต์ www.bangkokairquality.com และ https://pr-bangkok.com เพจเฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม เพจเฟซบุ๊ก : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และแอปพลิเคชัน AirBKK เพื่อวางแผนการทำงาน หรือทำกิจกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง