Travel Soft Power & Sport
ดงกระเฉดชะลูดน้ำสินค้าภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างรายได้

ปราจีนบุรี-ตะลุยแหล่งทำมาหากิน-ดงกระเฉดชะลูดน้ำ สินค้าภูมิปัญญาชาวบ้าน สร้างรายได้เริม-หลักเกษตรกร อ.กบินทร์บุรี แต่ละเดือนมากกว่า 10,000 บาท ไม่ต้องเป็นหนี้สิน-กู้ยืมใคร! เป็นสินค้าปลอดสารพิษ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สามารถใช้รับประทานสด ๆ แกล้มกับอาหารรสจัด หรือ ใช้จิ้มน้ำพริก และ ยังสามารถนำมายำ ผัด แกงส้ม ฯลฯ ได้อร่อยเป็นอย่างยิ่งด้วย
วันนี้ 26 ต.ค.65 ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ปราจีนบุรีรายงานว่า จากคำขวัญของอำเภอกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่กล่าวว่า ... เมืองด่านหนุมาน ประตูสู่อีสานด้านบูรพา ต้นธาราบางประกง ดงกระเฉดชะลูดน้ำ เหมืองแร่ทองคำบ่อทอง หนองปลาแขยงแหล่งน้ำ โดยเฉพาะ ดงกระเฉดชะลูดน้ำ ที่เป็นสินค้าการเกษตรจากภูมิปัญญาชาวบ้าน! ที่สร้างรายได้ให้สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง ในการเลี้ยงตนเองและครอบครัวไม่เดือนร้อน นั้น ได้มาพบกับพี่ประสาท บัวศรี อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองมันปลา หมู่ที่ 3 ตำบลนาแขม อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และ คุณพี่ธนาภา บัวศรี อดีตแพทย์ประจำตำบลนาแขม ซึ่งทั้งคู่มีอาชีพทำนา และเมื่อเกษียณอายุราชการ ได้ประกอบอาชีพการปลูกผักกระเฉดชะลูดน้ำเป็นอาชีพเสริม แต่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวมากกว่า เดือนละ 10,000 บาท ขึ้นไป กินใช้อย่างสบายไม่มีหนี้สิน
ซึ่งผักกระเฉดชะลูดน้ำ เป็นผักกระเฉดที่ไม่มีนม (ฟองน้ำ) และมีรสชาดกรอบอร่อย นำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู เช่นยำผักกระเฉด,แกงส้มแป๊ะซ๊ะและที่นิยมเป็นอย่างมาก ได้แก่ผัดไฟแดงผักกระเฉด อาจตามด้วยไฟแดงหมูกรอบก็อร่อยเพิ่ม พี่ประสาท ได้เล่าถึง ขั้นตอน ของการปลูกผักกระเฉดชะลูดน้ำ มีขั้นตอนที่ไม่ได้ยุ่งยาก ดังนี้ นำพันธ์ผักกระเฉดมาลงในแปลงเพาะชำ ที่มีน้ำขังอยู่และปล่อยให้ผักเจริญเติบโตจนสมบูรณ์ และออกดอก ซึ่งมีสีเหลือง เมื่อผักกระเฉดออกดอกสีเหลือคือเริ่มแก่ ตัดผักกระเฉดที่ออกดอกแล้วนำมามัดเป็นกำ โดยกำหนึ่งๆจะมีผักกระเฉดประมาณ 20-25 เส้น (ต้น) นำผักกระเฉดที่มัดเป็นกำแล้ว มาเสียบกับหลักไม้ไผ่แล้วนำไปกดลงน้ำ โดยในวันแรกให้ยอดผักกระเฉดโผล่พ้นน้ำประมาณ 2 เซนติเมตร และ ในวันที่ 2จะกดผักกระเฉดให้จมน้ำลงไปอีกประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้ผักกระเฉดชะลูดตัวขึ้นมารับแสงแดด และในวันที่ 3 ก็จะกดผักกระเฉดให้จมน้ำลงไปอีก เพื่อให้ผักกระเฉดชะลูดตัวยาวเพิ่มขึ้น โดยนำมากดน้ำ ทำเช่นนี้3-5วัน
นำผักกระเฉดที่ได้ชะลูดน้ำยาวตามความต้องการแล้ว ขึ้นมาล้างทำความสะอาดและตัดใบผักกระเฉดให้เหลือแต่ยอด มัดเป็นกำๆละ 10 เส้น (ต้น) แล้วจึงนำออกสู่ท้องตลาด โดยทางเกษตรกรจะขายในราคาส่งกำละ 10 บาท ซึ่งรายได้ในการเก็บแต่ละครั้งเกษตรกรจะมีรายได้ ครั้งละ1,000-1,200บาท/ครั้ง ในการตัดขาย
พี่ประสาท กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูก-ทำผักกระกระเฉดชะลูดน้ำนี้ มีข้อแนะนำถึงการปลูก ว่าอย่าปลูกในบ่อที่มีปลากินพืช เพราะจะทำให้ผลผลิตเสียหายได้ และในการเก็บผักกระเฉดชะลูดน้ำส่งจำหน่ายตลาดรับซื้อกลุ้มเกษตรกรผู้ผลิตในแต่ละหมู่บ้าน จะเว้นวันในการเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ให้ออกมาสู่ท้องตลาดมากจนล้นตลาดจนราคาตกต่ำ จะหมุนเวียนกัน ของแต่ละเจ้าที่ผลิตสินค้าเกษตร ” พี่ประสาทกล่าว
ด้าน นายฉลองรัตน์ ทองโบราณ ประธานสภาวัฒนธรรม อ.กบินทร์บุรี กล่าวว่า “ผักกระเฉดชะลูดน้ำนี้ ในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรีมีปลูกตลอดปี อาทิ หมู่ 10 หมู่ 15 ต.เมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี เรียกว่าเป็นเจ้าตำรับการทำผักกระเฉดชะลูดน้ำ หรือหล่งผลิตดั้งเดิม เริ่มปลูกตั้งแต่ปี 2526 ที่หมู่บ้านวังห้าง หมู่ 15 ที่ตั้งติดแควหนุมานก่อนขยายมายังพื้นที่ ต.นาแขม ในหมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 หมู่ 4 หมู่ 5 ปลูกกันเป็นอาชีพทั้งอาชีพหลัก และ อาชีพเสริมในแควหนุมาน ปลูกกันชนิดยกหมู่บ้าน ที่สำคัญคือสร้างรายได้ ลดรายจ่าย เป็นกอบเป็นกำ โดยในช่วงหน้าแล้งจะปลูกกันเต็มลำแควหนุมานเรียงเป็นแถวเต็มทั้งแคว ตั้งแต่หมู่บ้านวังห้าง ต.เมืองเก่า ยาวจรดหมู่บ้านหนองเอี่ยน ต.นาแขม
โดยตลาดจำหน่ายสินค้าหลังการปลูกหลัก ๆ ในพื้นที่อำเภอกบินทร์บุรีเอง ประกอบด้วย ตลาดไทยประคอง , ตลาดหน้าเครือนิคมอุตสาหกรรมสหพัฒน์ , ตลาดบ้านโคก และ ในตลาดสดเทศบาลตำบลกบินทร์ (แหล่งรวมผักกระเฉดชะลูดน้ำส่งตลาดกรุงเทพฯ)”นายฉลองรัตน์กล่าว และกล่าวต่อไปว่า “ ผักกระเฉดชะลูดน้ำ เป็นผักกระเฉดที่มีที่มีลักษณะเป็นปล้องยาวชะลูด ไม่มีนม(ปุยขาว)ที่หุ้มปล้องผักกระเฉด) กรอบ กลิ่นหอมกระเฉด ที่สำคัญคือปลอดสารพิษ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สามารถใช้รับประทานสด ๆ แกล้มกับอาหารรสจัด หรือ ใช้จิ้มน้ำพริก และ ยังสามารถนำมายำ ผัด แกงส้ม ได้อร่อยเป็นอย่างยิ่งด้วย
การปลูกผักกะเฉดชะลูดน้ำนี้ เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน เนื่องจากพื้นที่อำเภอกบินทร์บุรีเป็นที่ลุ่ม ในฤดูฝนน้ำจะหลากและท่วมเป็นประจำทุกปี เกษตรกรสังเกตเห็นว่า น้ำที่หลากมาท่วมผักกระเฉดที่ปลูกไว้จนมิดยอดนั้น ผักกระเฉดจะงอกหนีน้ำอย่างรวดเร็ว ทำให้ยอดที่เจริญขึ้นมาใหม่เป็นยอดอ่อนที่ยาว ไม่อวบ นิ่ม ไม่มีนม จึงเป็นยอดอ่อนที่สะอาด น่ารับประทาน เกษตรกรจึงใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาตินี้ มาทำผักกระเฉดชะลูดน้ำ โดยการตัดยอดกระเฉดจากแปลงในทุ่งนา ในสระน้ำ มาผูกกับหลักให้จมน้ำจนมิดยอด โดยอาศัยแควหนุมานที่มีน้ำใส ไหลตลอดปีเป็นที่ดำเนินการ หรือ ในสระน้ำที่ขุดไว้ หรือในสระธรรมชาติก็ตาม สร้างอาชีพเสริม – อาชัพหลักเป็นกอบเป็นกำสามารถพึ่งพาตนเอง ในการใช้เวลา หรือพื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ” นายฉลองรัตน์ กล่าวในที่สุด
มานิตย์ สนับบุญ-รายงาน/ฉลองรัตน์ ทองโบราณ-ภาพ /ปราจีนบุรี