In Bangkok
กทม.แนะปชช.ในพื้นที่น้ำท่วม-เกษตรกร ป้องกันและสังเกตอาการโรคเมลิออยด์

กรุงเทพฯ-สำนักอนามัย กทม.แนะประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม - เกษตรกร ป้องกันและสังเกตอาการโรคเมลิออยด์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อโรคเมลิออยด์ จำนวน 6 คน แบ่งเป็น หญิง 2 คน และชาย 4 คน
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังป้องกันโรคเมลิออยด์ในสถานพยาบาลของ กทม.ว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อโรคเมลิออยด์ จำนวน 6 คน แบ่งเป็น หญิง 2 คน และชาย 4 คน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยโรคเมลิออยด์ (Melioidosis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ที่พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย พบการติดเชื้อได้บ่อยในผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคธาลัสซีเมีย โรคปอด โรคไต ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ติดต่อได้ทางการรับเชื้อผ่านบาดแผลที่ผิวหนัง การดื่มน้ำ หรือการรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน การสูดหายใจรับฝุ่นละอองที่มีเชื้อปนเปื้อน อาการทั่วไป คือ มีไข้ มีฝีหนองที่ผิวหนัง หรือบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ อาจพบการติดเชื้อในอวัยวะภายในอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ ม้าม ไต ไปจนถึงติดเชื้อในกระแสเลือดแบบเฉียบพลันอย่างรุนแรงและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและปริมาณของเชื้อที่ได้รับ อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเมลิออยด์ที่อยู่ในดินและน้ำเข้าสู่ร่างกาย ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นต้องสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำ หากมีบาดแผลที่ผิวหนังควรรีบทำความสะอาดบาดแผลและหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการอยู่ที่โล่งแจ้ง หรือลงไร่นาในขณะที่มีพายุฝน หรือสภาพอากาศแปรปรวน
นอกจากนี้ สำนักอนามัย ได้มีมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองและการสังเกตอาการของโรคเมลิออยด์ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมในกรุงเทพฯ เกษตรกร หรือผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสดินและน้ำโดยตรง รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ไตเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคที่อยู่ในดินและน้ำเข้าสู่ร่างกาย ตลอดจนรณรงค์เน้นย้ำกระตุ้นเตือนให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ