In Bangkok

กทม.แนะแนวทางเตรียมวัคซีนป้องกัน โรคทางเดินหายใจช่วงปลายฝนต้นหนาว



กรุงเทพฯ-สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม.แนะแนวทางป้องกัน พร้อมเตรียมวัคซีนป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจช่วงปลายฝนต้นหนาว

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจประชาชนให้ระมัดระวังตนเองจากโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงปลายฤดูฝนว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติในการระมัดระวังโรคระบบทางเดินหายใจ อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส RSV โรคโควิด 19 รวมถึงโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ แผ่นพับ และสื่อออนไลน์ ซึ่งโรคดังกล่าวติดต่อได้หลายช่องทาง ได้แก่ การสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วย การไอ จาม หรือหายใจรดกัน รวมทั้งการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม และของเล่นเด็ก เป็นต้น โดยกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว คือ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนกลุ่มอื่น ๆ มีโอกาสป่วยเช่นกันหากพักผ่อนไม่เพียงพอ ทั้งนี้ การป้องกันโรค ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด 19 หรือโรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว สิ่งที่จะต้องปฏิบัติร่วมด้วยเสมอ คือ การสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการรับเชื้อและการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ควรแยกห้องนอนออกจากผู้อื่นหากมีอาการผิดปกติ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ขณะที่มีอาการไอ หรือจามให้ใช้ผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูก จากนั้นทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิดทันที ผู้มีอาการไข้ หรือไอ ควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ไปในที่ชุมชน เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักการแพทย์ ได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม.เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงปลายฤดูฝน อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส RSV โรคโควิด 19 โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค จัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย พร้อมจัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคในฤดูฝน ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพผ่านเว็บไซต์สำนักการแพทย์ และเพจเฟซบุ๊ก : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพผ่านสายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันได้พัฒนา “คลินิกวัคซีนผู้ใหญ่” ใน รพ.สังกัด กทม.ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดให้บริการเป็นประจำฤดูกาล ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด 19 โรคคอตีบ (dT) บาดทะยัก โรคหัด และหัดเยอรมัน เป็นต้น เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ลดความเจ็บป่วยและลดโรคให้ประชาชน รวมทั้งเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเปิดให้บริการในแผนกอายุรกรรม ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงวัคซีนตามสิทธิประโยชน์ของตนเอง