In Thailand
น้ำท่วม ราคาฟางอัดพุ่งสูง 4 เท่า วัว-ควาย ไร้อาหาร
ศรีสะเกษ-จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ส่งผลทำให้บ้านเรือนราษฎร พื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่เลี้ยงสัตว์ และแหล่งอาหารสัตว์ถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นวงกว้าง จนชาวบ้านต้องอพยพทั้งคนสิ่งของ รวมถึงสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะวัว-ควาย ขึ้นสู่ที่สูง ราคาฟางอัดพุ่งสูง 4 เท่า วัว-ควาย ไร้อาหาร ผอมโซกัดกินต้นไม้ใบไม้เป็นอาหาร
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ส่งผลทำให้บ้านเรือนราษฎร พื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่เลี้ยงสัตว์ และแหล่งอาหารสัตว์ถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นวงกว้าง จนชาวบ้านต้องอพยพทั้งคนสิ่งของ รวมถึงสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะวัว-ควาย ขึ้นสู่ที่สูง บางแห่งถูกน้ำท่วมบริเวณรอบหมู่บ้านจนมีสภาพกลายเป็นเกาะ ไม่สามารถเข้าออกได้ตามปกติ ต้องใช้เรือในการสัญจรมานานนับเดือน โดยเฉพาะที่บ้านหนองหวาย หมู่ที่ 12 ต.โนนสัง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีพื้นที่อยู่ติดกับลำน้ำมูล และลำห้วยขะยูง ไหลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก วัว-ควาย กว่า 400 ตัว เริ่มผอมโซ ไร้อาหาร ไม่สามารถหาอาหารกินเองได้ตามธรรมชาติ เนื่องจากแหล่งอาหารถูกน้ำท่วม จนต้องกัดกินใบไม้จนเหี้ยนเตียนเพื่อความอยู่รอด
นายสุดใจ คติสุข อายุ 54 ปี เกษตรกรชาวบ้านหนองหวาย บอกว่า ตนมีอาชีพทำนาซึ่งถูกน้ำท่วมเสียหายสิ้นเชิง และเลี้ยงวัว จำนวน 6 ตัว ปัจจุบันประสบปัญหาขาดแคลนอาหารสัตว์อย่างหนัก จนตนต้องนั่งเรือออกมาจากหมู่บ้าน เพื่อไปตระเวนหาอาหารสัตว์ เนื่องจาก หญ้า และฟาง ขาดแคลน หาซื้อที่ไหนก็ไม่ได้ อีกทั้งยังราคาแพงขึ้น 4 เท่าตัว จากเดิมก้อนละ 25 บาท ปัจจุบัน ก้อนละ 65-70 บาท ไม่รวมค่าขนส่ง ตนจึงเปลี่ยนมาซื้อกากข้าวโพดแทน เพราะมีราคาถูกกว่า จากโรงงานที่ จ.อุบลราชธานี ระยะทางประมาณ 50 กม. ในราคา กก.ละ 4 บาท 1 กระสอบ มีน้ำหนัก 50 กก. รวมกระสอบละ 200 บาท ตนซื้อมาครั้งละ 20 กระสอบ เป็นเงินทั้งสิ้น 4,000 บาท ไม่รวมค่าน้ำมันและค่าขนส่ง และต้องมาเสียค่าเรือขนส่งเข้าหมู่บ้านอีก กระสอบละ 10 บาท เป็นเงิน 200 บาท และค่านั่งเรือเข้าหมู่บ้านอีก คนละ 15 บาท ซึ่งลำบากมาก ถึงแม้ทางราชการจะนำหญ้ามามอบให้เกษตรกร แต่ก็ให้เพียงคอกละ 1 ก้อน บางคนมีวัว 5-10 ตัว ก้อนเดียวไม่สามารถประทังชีวิตวัวในคอกได้ทั้งหมด
ด้าน นางสำราญ จันทสิงห์ อายุ 51 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวอีกราย บอกว่า ตนเลี้ยงวัว ทั้งหมดจำนวน 9 ตัว ตั้งแต่บ้านถูกน้ำท่วมมาเมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ตนได้รับฟางที่ทางราชการนำมาแจก 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ก้อน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงวัว 9 ตัว โดยปกติวัว 9 ตัว จะกินฟางเฉลี่ยวันละ 4 ก้อน ตนจึงต้องนั่งเรือออกมาเกี่ยวหญ้าตามริมทาง และเกาะกลางถนน ในจุดที่น้ำท่วมไม่ถึง บางวันมาไม่ทันเพราะจะมีผู้เลี้ยงวัวรายอื่นเกี่ยวไปก่อน จนต้องขับรถตระเวนหารับซื้อฟางก้อนจนทั่วจังหวัดก็ไม่มี จึงต้องสั่งซื้อจากต่างจังหวัด ในราคาก้อนละ 70 บาท ไม่รวมค่าขนส่งทางเรือและค่าขนส่งทางบกเข้าบ้านอีก จากวันน้ำท่วมจนถึงวันนี้ ตนต้องจ่ายค่าอาหารสัตว์แล้วกว่า 5,000 บาท ลำบากมากแต่ก็สงสารสัตว์เลี้ยงที่เริ่มผอมโซ จนกระทั่งต้องกัดกินใบไม้จนเหี้ยนเตียนอย่างเห็นได้ชัด
ด้าน นายทองวรรณ จิตโชติ นายก อบต.โนนสัง กล่าวว่า ขณะนี้สัตว์เลี้ยงของ ต.โนนสัง ที่ประสบภัยมีทั้งหมด 1,000 กว่าตัว ซึ่งไม่มีอาหารกินเลย ไม่ว่าจะเป็นฟางแห้ง หรืออาหารข้น ถึงแม้ว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำหญ้าและฟางอัดก้อนมาแจกจ่ายช่วยเหลือชาวบ้านบ้างบางส่วน แต่ด้วยจำนวนสัตว์เลี้ยงที่มีเป็นจำนวนมาก จึงไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน ซึ่งทาง อบต.ก็ไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ หลังจากน้ำลดแล้วสิ่งที่ชาวบ้านอยากได้คือพันธุ์หญ้า พันธุ์ข้าว พืชผักสวนครัว เป็นต้น แต่ต้องใช้เวลาปลูกประมาณ 45 วัน ถึงจะเริ่มฟื้นสภาพ ขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงผู้ที่มีหญ้าหรือฟางอัดก้อน ให้นำเข้ามาขายให้กับชาวบ้านด้วย ในราคาที่เป็นธรรม เพราะน้ำท่วมประชาชนก็ไม่มีรายได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือแบ่งปัน บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยต่อไป
ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ รายงาน