In News

นายกฯชมจัดแสดงAPEC Future Food for Sustainabilityชูเป็นSoft Power



กรุงเทพฯ-นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมกิจกรรม “นิทรรศการ APEC Future Food for Sustainability” สร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนและคนไทยทั่วประเทศ แสดงความพร้อมและศักยภาพด้าน Soft Power อาหารไทย

วันนี้ (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้ (1 พ.ย. 65) เวลา 08.45 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมกิจกรรม “นิทรรศการ APEC Future Food for Sustainability” ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนและคนไทยทั่วประเทศ ในวาระที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม APEC 2022 ผ่านการประกวดสตาร์ทอัพด้านอาหารอนาคต ภายใต้แคมเปญ “Plate to Planet จานนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพด้าน Soft Power อาหารไทย

โดยได้นำเมนูอาหารอนาคตจากตัวแทนของผู้เข้ารอบทั้ง 21 ทีม มานำเสนอแก่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ซึ่งเมนูอาหารแต่ละเมนูล้วนมีความหลากหลาย ทั้งเมนูที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เมนูเสริมสุขภาพ และเมนูอาหารที่ใช้นวัตกรรมเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของวัตถุดิบที่มาจากประเทศไทย รวมทั้งยังรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยอาหารที่มานำเสนอ ประกอบด้วย 8 เมนู ได้แก่ (1) ข้าวถั่วลูกไก่ยำปักษ์ใต้ผัก 5 สี โปรตีนสูง (2) ราเมงจากเส้นโปรตีนไข่ขาว ไร้แป้ง เหมาะกับคนรักสุขภาพ (3) ไอติมปราศจากนม เพิ่มรสชาติด้วยผัดเคล และเสาวรส (4) ห่อหมกวีแกนเพื่อสุขภาพ (5) ขนมชั้นสูตรลดน้ำตาลเสริมใยอาหาร และโพรไบโอติกส์ (6) โครเก็ตพะแนงแพลนต์เบส (7) ก๋วยเตี๋ยวจากเพรียงทราย โซเดียมต่ำ ภูมิปัญญาชุมชน และ (8) ไอติมจากโปรตีนจิ้งโกร่ง 

ซึ่งในส่วนของงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (Gala Dinner) เมนูอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจ และคู่สมรส นั้นนำเสนอโดย เชฟชุมพล แจ้งไพร ภายใต้แนวความคิด “Sustainable Thai Gastronomy Gala Dinner” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของประเทศไทย ได้แก่ 1) Open เปิดประสบการณ์อาหารไทย ในทุกมิติ นำเสนอรสชาติที่กลมกล่อม ประกอบด้วย 8 รสชาติ ได้แก่ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ปร่า ขม และจืด 2) Connect คัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งผลิตท้องถิ่นทั่วประเทศไทย รวมทั้งที่ได้ขึ้นทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” เพื่อนำเสนอความอุดมสมบูรณ์ของไทยที่เป็นครัวของโลก และ 3) Balance การรักษาสมดุลระหว่างธรรมชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยผ่านการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ซึ่งประเทศไทยได้นำเป็นแนวทางเพื่อสร้างหุ้นส่วน เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน