EDU Research & ESG

'WAT TO PARK'การเพิ่มGreen Space ไอเดียใหม่เสริมนโยบายผู้ว่าฯกทม.



กรุงเทพฯ-Climathon BKK กิจกรรม Hackathon จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาช่วยระดมความคิดออกไอเดียในการแก้ไขปัญหา Climate change ไปพร้อมกันกว่า 200 เมืองทั่วโลก โดย Climathon เป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมภายใต้ซีรีย์ ENVIRONHACK ที่จัดโดย Hackathon Thailand เป็นเวลา 3วัน 2คืน  ที่ C-ASEAN Ratchada  ในรูปแบบ Hackathon​ (แฮกกาธอน) คือ การร่วมกันทำงานแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งผ่านกระบวนการ​คิดอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จเหมือนการวิ่งมาราธอน 

วันนี้ เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์น้องๆ จากทีม Dream Comes True สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการเสนอไอเดีย WAT  TO PARK การเพิ่ม Green Space หรือ พื้นที่สีเขียวใหม่ให้กับวัดวาอารามในกรุงเทพมหานคร ด้วยการใช้ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ ภูมิศาสตร์และผังเมือง โดยทีม Dream Comes True มีสมาชิกประกอบไปด้วย 1.นายวิชชากร พรกำเหนิดทรัพย์ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.นายจิรัน เฟื่องนาค นักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต 3.นายกัญจณภัทร ใสสุข นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.นายพีรพัฒน์ ธีรชัยศุภกิจ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 5.นางสาวเบญจวรรณ ธนพรโพธา นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 6.นายอารีฟ โต๊ะตาหยง นักศึกษาสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

นายวิชชากร พรกำเหนิดทรัพย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า WAT TO PARK เป็นแนวคิดที่ต้องการพัฒนาสวนละแวกบ้านแบบ Pocket Park ที่มีความสามารถในการพัฒนาให้แทรกอยู่ตามพื้นที่เมืองหรือชุมชน โดยการปรับเอาพื้นที่สาธารณะของวัดซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะในบริบทแบบไทยไทย มาพัฒนา โดยใช้เทคนิควิธีในการวิเคราะห์ คือ การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ (Spatial Analysis) ประกอบด้วย 5 เทคนิค ได้แก่ 1) GIS 2) Space Syntax Analysis 3) แผนที่เมืองเดินดี 4) SWOT Analysis 5) Site Analysis และ การศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มผู้ใช้ (User) ประกอบด้วย 2 เทคนิค ได้แก่ 1) Behavior Analysis 2) User Analysis เพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่นำร่อง และนำมาสร้างแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายจิรัน เฟื่องนาค จากมหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในสมาชิกทีมนี้ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ได้นำหลักการ Design Thinking หรือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้กับ Hackathon ครั้งนี้ ตั้งแต่การเลือกสมาชิกทีมที่มีความหลากหลายด้านความรู้และความสามารถ การออกสำรวจและเก็บข้อมูล จนได้เสนอออกมาเป็น Prototype เพื่อทำการทดสอบในที่สุด ซึ่งการเพิ่ม Green Spaceในกรุงเทพมหานครนั้น ยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สวนได้ในระยะเวลาเดิน 10-15 นาที  หรือระยะ 800 เมตร อีกทั้งการเลือกวัดเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่สีเขียวใหม่ เป็นทางเลือกที่น่าจะเหมาะสมกับสังคมกรุงเทพมหานครเพราะมีวัดกระจายตัวอยู่ในทุกพื้นที่ เข้าถึงแทบทุกระยะเดิน  อีกทั้งวัดเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนมีเจตจำนงร่วมกันดูแลมาแต่เดิม มีลักษณะสร้างการมีส่วนร่วมได้ง่าย รวมพลังผู้คนมาเปลี่ยนพื้นที่ร้อนๆ ให้เป็นพื้นที่สีเขียว ทางเดิน จุดออกกำลังกายได้สะดวก อีกทั้งมีมิติผู้นำทางสังคม และทีมจิตอาสาเดิมอยู่แล้ว สามารถขยับเขยื้อนเริ่มทำพร้อมกันให้เกิดผลในวงกว้างได้ทันที