In Thailand

โยธาฯแปดริ้วเผยตอกเข็มทำตึกร้าวจริง แต่ยังแข็งแรง



ฉะเชิงเทรา-โยธาฯชี้ ต่างชาติตอกเสาเข็มสร้างโกดังกระทบตึกชาวบ้านในชุมชนหน้าวัดทดฯ แปดริ้วแตกร้าวจริง แต่เชื่อโครงสร้างยังแข็งแรง ก่อนเตรียมประเมินราคากลางค่าซ่อมช่วยหาทางออกยุติพิพาท ขณะฝ่ายผู้รับเหมาโอดไม่ทิ้งชาวบ้านพร้อมพยายามไกล่เกลี่ยเข้าซ่อมแซมให้หลายหลังแล้ว อ้างบางรายเรียกค่าเสียหายสูงเกิน ด้านฝ่ายชาวบ้านยันเสียหายหนักขาดประโยชน์นานกระทบโอกาสทำกินรายได้หด

วันที่ 3 พ.ย.65 เวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (2 พ.ย.65) ได้มีคณะเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งโยธาธิการและผังเมือง จ.ฉะเชิงเทรา ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด กองช่าง อบต.คลองนา วิศวกรผู้ดูแลโครงการจากฝ่ายผู้รับเหมา และทีมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากฝ่ายบริษัทเจ้าของโกดังสินค้าที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ได้เริ่มลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นอีกครั้ง

หลังจากบริษัทต่างชาติได้ทำการขยายกิจการสร้างโกดังสินค้าทรงโดมสูงขนาดเท่าตึก 3 ชั้นบนแปลงที่ดิน 1 ไร่ และมีการตอกเสาเข็มที่ความลึก 24 เมตรจำนวน 387 ต้นด้วยปั่นจั่นเครื่องตอกถึง 2 ตัวคู่กันเมื่อช่วงเดือน มิ.ย.65 ที่ผ่านมา จนทำให้ตัวอาคารพาณิชย์แบบ 3 ชั้นรวม 18 คูหา ของชาวบ้านบริเวณชุมชนหน้าวัดทดราษฎร์เจริญมณีฤทธิ์ พื้นที่ ม.5 ต.คลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับความเสียหายตามที่ได้เคยนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดหลังการลงพื้นที่สำรวจถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น นายสถิตย์ นาคสมบูรณ์ วิศวกรโยธาชำนาญการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เข้ามาตรวจสอบความเสียหายของตึก ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ของชาวบ้านอีกครั้ง ได้พบรอยแตกร้าวที่คาดว่าน่าจะเกิดจากการตอกเสาเข็มในแปลงพื้นที่ข้างเคียงติดกันจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความเสียหายที่ขอบผนัง ขอบฝ้าเพดาน แต่ในส่วนของโครงสร้างอาคารนั้นยังมีความมั่นคงแข็งแรงอยู่ นอกจากนี้ยังมีกระเบื้องปูพื้นที่หลุดร่อนออกมา ซึ่งอาจจะเกิดจากการปูพื้นที่ใช้ทรายใส่ไว้ไม่เต็มใต้แผ่นกระเบื้อง 

โดยจะต้องดูในรายละเอียดกันอีกครั้ง สำหรับในส่วนของพื้นอาคารที่ทรุดตัวลงและแตกร้าวนั้น หากไม่ได้อยู่บนโครงสร้างของอาคารก็อาจเป็นการทรุดตัวตามธรรมชาติ ส่วนพื้นที่อยู่ด้านบนตัวอาคารที่แตกร้าวนั้น จะต้องดูแบบของอาคารอีกครั้งว่ามีโครงสร้างรองรับไว้หรือไม่ หลังการลงมาสำรวจความเสียหายในครั้งนี้แล้ว ทางโยธาฯ จะทำการประเมินราคาค่าเสียหายในเบื้องต้นมาให้แก่ทางเจ้าของอาคารพาณิชย์ดู เพื่อให้ทีมไกล่เกลี่ยสรุปหาแนวทางในการชดเชยความเสียหายอย่างไรต่อไป นายสถิตย์ กล่าว

ขณะที่ นายวิชญะ เลาหบุตร วิศวกรกรประสานงานโครงการก่อสร้างอาคารโดม จากฝ่ายผู้รับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า สำหรับความเสียหายในภาพรวมที่เกิดขึ้นต่ออาคารพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในแปลงที่ดินใกล้เคียงนั้น มีทั้งหมด 11 ราย โดยมีจำนวน 3 รายที่ยินยอมให้ทางเราเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมทุกอย่างให้จนแล้วเสร็จหมดแล้ว พร้อมมีการลงนามเซ็นหนังสือไว้เป็นหลักฐาน ว่าเราไม่ได้ทอดทิ้งชาวบ้านแต่อย่างใด 

โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขอีก 1 หลัง โดยยังอยู่ระหว่างการเจรจายินยอมตกลงกันอีกจำนวน 3 ราย แต่ยังมีอีกจำนวน 4 รายที่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ เกี่ยวกับค่าชดเชยที่ผู้เสียหายมีการเรียกร้องค่อนข้างสูงมาก โดยการดำเนินการต่อไปต้องหาข้อสรุปตรงกลางระหว่างกันไห้ได้ สำหรับข้อกังวลของชาวบ้าน เกี่ยวกับกรณีข้อกังวลในการซ่อมแซมรอยร้าวของตัวอาคาร หากเกิดรอยร้าวขึ้นมาอีกครั้งในอนาคตนั้น ทางเราได้รับประกันการซ่อมแซมรอยร้าวในจุดที่ซ่อมเป็นระยะเวลา 1 ปี แต่จะมีการตกลงกันแบบเป็นรายๆ ไป ส่วนกรณีที่ทางบริษัทฯ ได้มีการทำประกันภัยไว้ระหว่างการก่อสร้างตอกเสาเข็มนั้น เนื่องจากเป็นการประกันภัยที่คุ้มครองเกี่ยวกับโครงสร้างของตัวอาคารข้างเคียง แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงผิวอาคารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวโครงสร้าง บริษัทประกันภัยจึงไม่ได้มารับผิดชอบในส่วนนี้ให้ นายวิชญะ กล่าว

ขณะที่ น.ส.พัทธ์ยมล สื่อสวัสดิ์วณิชย์ อายุ 54 ปี เจ้าของอาคารพาณิชย์เลขที่ 90/1-4 ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักมากกว่ารายอื่นๆ ทั้ง 4 คูหา กล่าวว่า หลังมีหน่วยงานราชการลงพื้นที่มาสำรวจความเสียหายอีกครั้งแล้ว ชาวบ้านก็ยังไม่รู้ว่าจะตกลงกันได้อีกหรือไม่ ทางบริษัทจะยินยอมชดใช้ให้เราหรือไม่จึงยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป โดยที่ทางเจ้าหน้าที่โยธาฯ นั้น ได้บอกว่ารอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นเกิดจากการตอกปั้นจั่นเสาเข็มจริง

ซึ่งมีทั้งฝาผนังแตกร้าวจนน้ำรั่วซึม มีฝนสาดเข้ามาตามรอยร้าวในตัวอาคาร มีหลังคารั่วจนฝ้าเพดานเสียหายน้ำซึมเข้ามาจากภายนอก และพบรอยแตกร้าวไปทั่วเป็นจำนวนมาก แต่ทางบริษัทจะเข้ามาซ่อมแซมรอยร้าว และรอยรั่วให้ แค่เพียงจะนำเอาอะคริลิคมายากันซึมไว้เท่านั้น ทั้งที่การแตกร้าวของตึกได้ทำให้มูลค่าของทรัพย์สินเสียหาย ราคาตึกตกลงจนขายไม่ได้ ไม่มีคนมาขอเช่าเพราะมีรอยแตกร้าว

จากเดิมนั้นเราซื้อตึกเมื่อกว่า 6 ปีที่แล้ว 4 คูหาในราคา 18 ล้านบาท เมื่อตึกเกิดรอยร้าวแล้ว ในระยะยาว เราก็จะต้องมีการซ่อมแซมเรื่อยไป เมื่อดูจากปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่จบลงเพียงเท่านี้ ทั้งที่อาคารที่กำลังจะก่อสร้างขึ้นมาทางด้านหลังของตึกนี้ เป็นของชาวต่างชาติ ที่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้คนไทย และที่ผ่านมาทางราชการยังแก้ไขปัญหาให้เราไม่ได้ ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรเราได้เลยจนถึงเวลานี้ ก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาให้เราได้อย่างไร

ทั้งที่เราเป็นคนไทย ทำให้เราเสียโอกาสทางธุรกิจ โดยก่อนหน้านี้ ก่อนที่เขาจะตอกเสาเข็ม ได้มีผู้เช่ากำลังจะเข้ามาทำสัญญา เพื่อเช่าตึกทั้ง 4 คูหาในราคาค่าเช่าคูหาละ 2 หมื่นบาทต่อเดือนหรือ 240,000 บาทต่อปีรวม 4 คูหาเป็นเงินจำนวน 960,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่เราเสียโอกาสไปจากการกระทำของบริษัทต่างชาติ โดยการตกลงจะเช่าอาคารในครั้งนี้ จะมีการเช่าต่อเนื่องกันเป็นเวลา 10 ปี จึงทำให้เราเสียโอกาสสร้างรายได้ไปเป็นเงินถึงเกือบ 10 ล้านบาท

ตนเองจึงต้องการให้เขาชดใช้ค่าเสียหายอย่างเหมาะสมตามจริง แต่เขากลับมาเสนอชดใช้ให้เพียงแค่ 9,400 บาทต่อคูหาเท่านั้น และหากในอนาคตมีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินติดกับคนไทย และเข้ามาอยู่มาสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้แก่คนไทยอีก จะทำกันอย่างไร น.ส.พัทธ์ยมล กล่าว

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา