In Bangkok
กทม.เร่งเตรียมมาตรการป้องกันอุบัติเหตุ ทางบก-ทางน้ำช่วงลอยกระทงปี2565

กรุงเทพฯ-สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.เตรียมพร้อมมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางบก - ทางน้ำช่วงเทศกาลลอยกระทงปี 65
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทั้งทางบกและทางน้ำ รวมถึงอุบัติภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2565 ว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้อนุมัติแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงของ กทม.ประจำปี 2565 เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติงานและเตรียมความพร้อมป้องกันและระงับเหตุสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นบริเวณสถานที่จัดงานลอยกระทงของ กทม.และสถานที่ต่าง ๆ ที่จัดงานลอยกระทง ขณะเดียวกันผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ลงนามในประกาศ กทม.เรื่องมาตรการป้องกันอันตรายจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันในช่วงวันลอยกระทง ประจำปี 2565 เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทงในปีนี้ อาทิ ห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อยหรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่นั้น หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ผลิต สะสม หรือจำหน่ายดอกไม้เพลิง ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย ซึ่งสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ได้จัดตั้งชุดเฉพาะกิจเข้มงวดกวดขันและตรวจตราสถานประกอบการที่ผลิต สะสม และจำหน่ายดอกไม้เพลิงให้ดำเนินการตามกฎหมายกำหนด
นอกจากนั้น สปภ.ยังได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทง ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่จะมีการจัดงานลอยกระทง ประกอบด้วย (1) จุดพื้นที่ลอยกระทงบริเวณสวนสาธารณะ 34 แห่ง และริมคลอง จัดเจ้าหน้าที่จุดละ 2 นาย พร้อมรถดับเพลิง รถไฟฟ้าส่องสว่าง และเครื่องดับเพลิงชนิดยกหิ้ว (2) จุดกองอำนวยการร่วมฯ ตามที่ได้รับการประสานจากสำนักงานเขต จัดตั้งศูนย์วิทยุสื่อสารและเจ้าหน้าที่จุดละ 5 นาย พร้อมรถดับเพลิง รถไฟฟ้าส่องสว่าง และเครื่องดับเพลิงชนิดยกหิ้ว (3) จัดเจ้าหน้าที่จุดละ 2 นาย ประจำจุดท่าเทียบเรือและโป๊ะ ตามที่ได้รับการประสานจากสำนักงานเขต พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต เสื้อชูชีพ ห่วงยางช่วยชีวิต และเชือกช่วยชีวิต และ (4) จัดเรือดับเพลิงขนาด 38 ฟุต พร้อมอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำและเจ้าหน้าที่กู้ภัยทางน้ำ 3 ชุด ออกลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยทางน้ำตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 - สะพานพระราม 9 รวมทั้งจัดเตรียมรถดับเพลิง รถกู้ภัย เครื่องมือเครื่องใช้ เรือเจ็ทสกี 2 ลำ อุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยทางน้ำ ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมเจ้าท่า กองเรือลำน้ำ (กองทัพเรือ) ตำรวจน้ำ หน่วยแพทย์กู้ชีวิต อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และมูลนิธิต่าง ๆ เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง