In News

'ศักดิ์สยาม'จัดถกเร่งเปิดใช้โมโนเรล2สาย รอICEรับรองเปิดบริการเต็มรูปแบบปี66



กรุงเทพฯ-'ศักดิ์สยาม' ประชุมติดตามผลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลืองและสายสีชมพูเพื่อเตรียมเปิดบริการ โดยได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ดำเนินการ ให้มีการทดลองเดินรถเสมือนจริงโดยไม่เก็บค่าโดยสาร โดยศึกษารูปแบบจากรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง ด้านราคาค่าโดยสารและบัตรโดยสารให้คณะอนุกรรมการพิจารณารูปแบบการคิดคำนวณค่าโดยสารโดยเปรียบเทียบกับวิธีการของรถไฟฟ้า ชานเมืองสายสีแดงและการใช้บัตรโดยสารร่วม การ Count down วันเปิดให้บริการ แนวทางการเชื่อมต่อขนส่งมวลชนระบบอื่น ๆ การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด โดยประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และขอพระราชทานนามแนวเส้นทางโครงการให้ดำเนินการขอพระราชทานนามสำหรับทั้ง 2 โครงการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รวค.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้าง ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู มีความคืบหน้าอย่างมาก จึงได้กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและ สายสีชมพูขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งอื่น การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม การขอพระราชทานนามแนวเส้นทาง และการสื่อสารสาธารณะ โดย ณ ปัจจุบันสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) มีความคืบหน้าการก่อสร้าง ร้อยละ 96.79 ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 29 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวน ส่วนสายสีชมพู (ช่วงแคราย - มีนบุรี) มีความคืบหน้าร้อยละ 92.28 ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 34 ขบวน จากทั้งหมด 42 ขบวน โดยทั้งสองเส้นทางมีแผนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2566 โดยปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างจัดทำ Proof of Safety เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของงานโยธาและงานระบบไฟฟ้าทั้งหมดของโครงการ ก่อนที่วิศวกรอิสระ (ICE) จะออกหนังสือรับรองความปลอดภัย เพื่อเปิดให้บริการให้แก่ประชาชนต่อไป

ในการประชุม ที่ประชุมได้หารือแนวทางการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคซึ่งมีงานทับซ้อนกัน ณ ตำแหน่งทางขึ้นลงของสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ (สถานี PK11 – PK13) ประกอบด้วย การรื้อย้าย Duct Bank และแนวสายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง และการก่อสร้างทางระบายน้ำ (Flood Way) ของกรมทางหลวง ซึ่งตามแผนงานจะรื้อย้ายแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม 2566 รวมถึงได้หารือแนวทางการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูกับระบบขนส่งอื่น เช่น การก่อสร้าง Skywalk เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานีหัวหมาก กับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ สถานีหัวหมาก ตลอดจนได้หารือแนวทางการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางเพื่อรองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู โดยก่อนการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จำนวน 59 เส้นทาง ได้มีการปรับเพิ่มเป็น 81 เส้นทาง และสายสีชมพูเดิมมีรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อ จำนวน 50 เส้นทาง ได้มีการปรับเพิ่มเป็น 82 เส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกการเชื่อมต่อการเดินทางให้แก่ประชาชน

ทั้งนี้ ในการประชุม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการ ให้คณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ดำเนินการดังนี้

1. คณะอนุกรรมการด้านการเดินรถ การเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง และการประเมินคุณภาพ
   1.1 ให้คณะอนุกรรมการฯ ประสานผู้รับสัมปทานก่อสร้างเพื่อกำกับและติดตามการดำเนินการก่อสร้าง ให้เป็นไปด้วยความปลอดภัยสูงสุด และการจัดการจราจรให้มีผลกระทบต่อการเดินทางประชาชนน้อยที่สุด เช่น การคืนพื้นที่ผิวจราจรจากการก่อสร้าง
   1.2 ให้มีการทดลองเดินรถเสมือนจริงโดยไม่เก็บค่าโดยสาร โดยศึกษารูปแบบจากรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง
   1.3 ให้ตรวจสอบการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสาย และการเดินทางสาธารณะรูปแบบอื่น ให้มีความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการ เช่นทางเดินที่มีหลังคา

2. คณะอนุกรรมการด้านราคาค่าโดยสารและบัตรโดยสารให้คณะอนุกรรมการพิจารณารูปแบบการคิดคำนวณค่าโดยสารโดยเปรียบเทียบกับวิธีการของรถไฟฟ้า ชานเมืองสายสีแดงและการใช้บัตรโดยสารร่วม และประสานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะ เพื่อเร่งรัดประชาสัมพันธ์บัตรโดยสารแก่ประชาชน

3. คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะให้ประสานข้อมูลจากคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ เพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในทุกช่องทาง เพื่อชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการ เช่น การ Count down วันเปิดให้บริการ แนวทางการเชื่อมต่อขนส่งมวลชนระบบอื่น ๆ การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด โดยประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

4. คณะอนุกรรมการด้านการเตรียมการขอพระราชทานนามแนวเส้นทางโครงการให้ดำเนินการขอพระราชทานนามสำหรับทั้ง 2 โครงการ และพิจารณาขอพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์สำหรับประดิษฐานบริเวณอาคารหรือสถานีของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู โดยปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเตรียมความพร้อมในการติดตั้งป้ายชื่อสถานีเมื่อได้รับพระราชทานชื่อแนวเส้นทาง