In Thailand
กาฬสินธุ์เร่งระบายน้ำลงสู่ลำชีระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง
กาฬสินธุ์-ยังคงระดมเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำลงสู่ลำชี หลังประชาชนสามารถกลับเข้าสู่บ้านเรือนได้บ้างแล้ว ขณะที่ระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายตรีรัตน์ หนูแก้วขวัญ หัวหน้า สนง.ปภ.จังหวัดกาฬสินธุ์ นางสาวสุภลักษณ์ บุญเกิด ผู้ช่วยหัวหน้า สนง.ปภ.จังหวัดกาฬสินธุ์ นายณัฐพล เพียรภายลุน ปลัดอาวุโสอำเภอกมลาไสย นายมะณี อุทรักษ์ ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยากาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การระบายน้ำพื้นที่บ้านแจ้งจม ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวถึงการระบายน้ำลงสู่ลำชีในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ว่าสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดกาฬสินธุ์เริ่มคลี่คลาย โดยระดับน้ำเริ่มลดลงตามลำดับ และขณะนี้ยังเร่งดำเนินการคือการระบายน้ำจากฝั่งหลังพนังกั้นน้ำ หรือที่เรียกว่าน้ำทุ่ง ระบายลงสู่ลำชีโดยเร็วที่สุด โดยได้ทำการสูบน้ำมาตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ปัจจุบันระดับน้ำได้ลดลงไปมากกว่า 80 เซนติเมตร แต่ก็ยังสูบน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องสูบน้ำได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น 8 เครื่อง, องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ 7 เครื่อง, ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น 2 เครื่อง เป็นเครื่องสูบน้ำท่วม/ขังระยะไกล ซึ่งสูบน้ำได้ 50,000 ลิตรต่อนาที ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอฆ้องชัยและอำเภอกมลาไสย เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับเข้าไปอาศัยบ้านเรือนได้ โดยล่าสุดเหลือไม่กี่ครัวเรือน ประกอบกับการเร่งนำ น้ำ EM มาช่วยเหลือเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำเริ่มเน่าเสียด้วย
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันจังหวัดกาฬสินธุ์ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย จำนวน 9 อำเภอ อ.เมืองกาฬสินธุ์, อ.สหัสขันธ์, อ.ท่าคันโท, อ.หนองกุงศรี, อ.ยางตลาด, อ.สามชัย, อ.ฆ้องชัย, อ.กมลาไสย และ อ.ร่องคำ ใน 31 ตำบล 182 หมู่บ้าน ผู้ประสบภัย จำนวน 2,830 ครัวเรือน ด้านการเกษตร มีพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย รวมจำนวนทั้งสิ้น 80,815.75 ไร่ เกษตรกร 9,877 ครัวเรือน ด้านประมง จำนวน 5 อำเภอ รวม 259.75 ไร่ เกษตรกร 276 ราย
อย่างไรก็ตาม ส่วนแนวโน้มสถานการณ์น้ำในพื้นที่ โดยระดับน้ำหน้าเขื่อนวังยาง อยู่ที่ 141.01 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลดลง 0.09 เมตร ระดับน้ำต่ำกว่าระดับน้ำสูงสุดปี 2564 ที่ 0.15 เมตร โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าประมาณช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ