In News

รัฐฯเอาจริงสั่งเข้ม!!กวาดล้างขยะสังคม เป้า'ต้มตุ๋นออไลน์'ตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อ



กรุงเทพฯ-รัฐบาลเอาจริงป้องความเสียหายประชาชน คุมเข้มกวาดล้างขยะสังคมต้มตุ๋นออนไลน์ให้เห็นผลโดยเร็ว เล็งตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อ

วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2565) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงดีอีเอส ดีเอสไอ ตร. ธปท. ก.ล.ต. และ กสทช. เพื่อขับเคลื่อน มติ ครม.ในการเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จากการฉ้อโกงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมี รมว.ดีอีเอส และ ผบ.ตร.ร่วมประชุม

ที่ประชุมได้หารือเพื่อแก้ไขปัญหาภาพรวมสถานการณ์ปัญหาฉ้อโกงและการหลอกลวงประชาชน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งในรูปแบบของการเงินนอกระบบ ( เช่น แชร์ลูกโซ่ การเล่นแชร์และการขายตรง ) การพนันออนไลน์ การหลอกลวงผ่านคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องโดยคนร้ายมักปรับรูปแบบและวิธีการ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อโดยมิรู้เท่าทัน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทที่ผ่านมา 

ต่อจากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ มาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเสนอ มาตรการป้องกันปราบปราม มาตรการสืบสวนปราบปราม การปรับแก้กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องและกำหนดอัตราโทษสูงขึ้น รวมทั้ง มาตรการดูแลคุ้มครองประชาชน และมาตรการสร้างความร่วมมือเชิงรุก

พลเอก ประวิตร ฯ ย้ำปัญหาฉ้อโกงและการหลอกลวงประชาชน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภัยทางสังคมสร้างความเสียหายทางการเงิน เศรษฐกิจสังคม และความเชื่อมั่นของประเทศอย่างมาก ขอให้ทุกหน่วยงาน ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ต้องให้ความสำคัญ เปิดปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดจริงจัง บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมดให้เป็นผลรูปธรรมต่อเนื่องกันไป โดยให้กวาดล้างทุกกลุ่มต้มตุ๋นออนไลน์ เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับทราบความคืบหน้าการแก้ปัญหาในทุกกรณี

รอง นรม.ยังได้กำชับ ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละมาตรการ ประกอบด้วย ธปท. กสทช. ปปง. ก.ล.ต. และ ตร. เร่งดำเนินการจัดทำรายละเอียดในแต่ละมาตรการให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน โดยให้ ดีอีเอส พิจารณาการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย พร้อมทั้งขอให้ รมว.ดีอีเอส.และ ผบ.ตร. เข้าไปรับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าว ร่วมกันจัดทำรายงานการแก้ปัญหาการฉ้อโกงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เสนอ ครม. และให้ร่วมประชุมขับเคลื่อนงานกันอย่างใกล้ชิด รายงานผลให้ทราบทุกสัปดาห์  ที่สำคัญทุกหน่วยงานต้องกำกับไม่ให้มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องเด็ดขาด