In News

นายกประชุมบอร์ดกพช.เห็นชอบ2เรื่อง ค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว-ทบทวนเงินกองทุนฯ



นายกฯ ประชุมบอร์ด กพช. ย้ำขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมกันประหยัดพลังงานเพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ขณะที่ กพช. ไฟเขียวเดินหน้ามาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤต

กรุงเทพฯ-นายกฯ ประชุมบอร์ด กพช. ย้ำขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมกันประหยัดพลังงานเพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ขณะที่ กพช. ไฟเขียวเดินหน้ามาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.65

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า วันนี้ (7 พ.ย.65) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 7/2565 (ครั้งที่ 162) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมด้วย สรุปผลการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีย้ำให้กรรมการ กพช. ทุกคน ร่วมกันพิจารณาหารือประเด็นสำคัญ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาพลังงานที่เกิดขึ้นขณะนี้ โดยเฉพาะความจำเป็นที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนด้านพลังงานของประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ทั้งนี้ การดำเนินการทุกอย่างที่เสนอมาต้องเป็นไปด้วยความสุจริต เป็นธรรม ตรวจสอบได้ คุ้มค่ากับการใช้จ่ายงบประมาณและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการดำเนินมาตรการประหยัดพลังงาน ให้เป็นมาตรการระยะยาวที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันประหยัดพลังงานอย่างจริงจังและปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย ขอให้เร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างความรู้และความเข้าใจกับประชาชนทุกภาคส่วนในสังคม ถึงความจำเป็นที่ต้องร่วมกันประหยัดพลังงาน ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านพลังงานของประเทศให้เพียงพอสำหรับประชาชนและเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ขับเคลื่อนต่อไปได้ รวมทั้งเพื่อลดการนำเข้าพลังงานและก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศที่ขณะนี้ยังมีราคาแพง ซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศในการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ด้วย ส่วนกรณีของการนำโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และรองรับสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานนั้น นายกรัฐมนตรีกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายลดโลกร้อนของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อย่างไรก็ตามสาเหตุของอัตราการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัว สถานประกอบการ โรงงาน และธุรกิจต่าง ๆ สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ รวมทั้งประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้แล้ว ตลอดจนการเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ที่ต้องใช้พลังงานมากเช่นกัน อาทิ กลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัล และธุรกิจออนไลน์ ต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวให้ความสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดและพลังงานสีเขียว ว่า เป็นแนวทางของการปรับเปลี่ยนพลิกโฉมการใช้พลังงานของไทยไปสู่อนาคตที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และนโยบายการลดโลกร้อนของรัฐบาล อีกทั้งยังจะเป็นปัจจัยสนับสนุนในการที่จะดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากเห็นศักยภาพด้านการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดของไทยอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญอย่างมากในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปสู่การลดโลกร้อนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมไปถึงก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ และทำให้สินค้าของไทยเข้าสู่ตลาดสากลภายใต้มาตรฐานและกติกาสากล อันจะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้อีกด้วย

นายอนุชาฯ กล่าวว่า ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 เช่น มาตรการตามแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 การจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมาตรการขอความร่วมมือในการประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และเร่งรัดการอนุมัติ/อนุญาตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะสามารถประมาณเทียบเท่าการลดการนำเข้า Spot LNG

ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานฯ แต่ละมาตรการ ได้แก่ สำนักงาน กกพ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เร่งดำเนินการในมาตรการ โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเปรียบเทียบราคา Spot LNG นำเข้ากับราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนในแต่ละมาตรการ เพื่อนำมาพิจารณาในการที่จะคงการใช้มาตรการที่มีความคุ้มค่าและเลิกใช้มาตรการที่ไม่มีความคุ้มค่า โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากสถานการณ์ราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงไปอันจะส่งผลให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้มาตรการต่าง ๆ แล้ว ให้สำนักงาน กกพ. รายงานต่อคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน (คณะอนุกรรมการฯ) โดยเร็ว และที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยคณะอนุกรรมการฯ ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 – เดือนธันวาคม 2565 อย่างใกล้ชิด และรายงานต่อ กพช. ทราบต่อไป

ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก โดยประกอบด้วย (1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำหนดต่อไป (2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป ทั้งนี้ ในการกำหนดองค์ประกอบและโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวทั้งสองรูปแบบ รวมถึงการจัดสรรต้นทุนการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปที่ครอบคลุมต้นทุนสาธารณะ และวิธีการและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ กกพ. จะพิจารณากำกับดูแลภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ให้โปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ประเทศไทย ปี 2554-2558 โดยให้มีการปรับปรุงข้อความการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย จากเดิม “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตรา 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เป็น “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เพื่อให้ กกพ. สามารถกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าเป็น 0 บาทต่อหน่วยเป็นการชั่วคราว ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบภาระค่าไฟฟ้าต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน