In News
ครม.เห็นชอบรับรองวัดคาทอลิกตามกม. เพิ่มเติมอีก34แห่งใน15จังหวัด
กรุงเทพฯ-น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 8 พ.ย. 65 ได้พิจารณารับรองวัดคาทอลิกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ.2564 (ระเบียบฯ) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดต่างๆ รวมจำนวน 34 แห่ง ซึ่งเป็นการรับรองเพิ่มเติมจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 65 ที่รับรองไปแล้ว 9 แห่ง
ทั้งนี้ วัดคาทอลิกทั้งหมดที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก ก่อนเสนอให้ ครม. เห็นชอบครั้งนี้ เป็นวัดที่มีอยู่ก่อนระเบียบฯ จะประกาศบังคับใช้ และปัจจุบันมีวัดที่ยังไม่ได้รับรอง 345 แห่ง ที่ต้องรับรองให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หลังระเบียบนี้ใช้บังคับ(15 มิ.ย. 64)
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับข้อมูลที่คณะกรรมการฯ จะใช้ประกอบการพิจารณารับรองวัดคาทอลิกตามกฎหมายมีหลายประการด้วยกัน เช่น มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบศาสนาพิธีและการพำนัก มีสถานที่ สิ่งปลูกสร้างและอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่การประกอบศาสนกิจและการพำนักครบถ้วน วัดมีคุณค่าและประโยชน์ต่อประชาชนและชุมชนในด้านศาสนาและสังคม วัดได้รับการอุปถัมภ์และทำนุบำรุงวัดจากภาคประชาชน รัฐ และเอกชน รวมถึง ได้ดำเนินงานตามภารกิจของมิซซังในด้านต่างๆ
ทั้งนี้ การรับรองวัดคาทอลิกจะเกิดประโยชน์ด้านต่างๆ อาทิ ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยสำหรับการสนับสนุนหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม เกิดความมั่นคงด้านศาสนจักร เนื่องจากวัดคาทอลิกเป็นองค์ประกอบหลักและเป็นศูนย์รวมการประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมของศาสนิกชนในวาระสำคัญต่างๆ ตามศาสนบัญญัติ ดังนั้น การรับรองวัดคาทอลิกจะทำให้วัดสามารถคงอยู่และสร้างความเชื่อมั่นแก่คริสต์ศาสนิกชนได้
วัดจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนสถาน เช่น โครงการเงินอุดหนุนกิจกรรมบูรณะศาสนสถาน รวมถึงสิทธิประโยชย์ทางภาษีหรือการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวข้องกำหนดไว้ในลักษณะเดียวกับศาสนาอื่น ซึ่งรวมถึงการได้รับยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและประชาชนได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีจากเงินที่บริจาคให้แก่วัด
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า วัดคาทอลิกทั้ง 34 แห่งที่ได้รับการรับรองครั้งนี้กระจายอยู่ใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย 1) กรุงเทพมหานคร 7 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญยอแซฟ(ตรอกจันทน์) วัดราชินีแห่งสันติสุข(สุขุมวิท 101) วัดเซนต์จอห์น วัดแม่พระฟาติมา(ดินแดง) วัดธรรมาสน์นักบุญเปโตร(บางเชือกหนัง) วัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด(บางสะแก) และวัดนักบุญเทเรซา(หนองจอก)
2) จ.นนทบุรี 2 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่มหาการุณย์(เมืองนนท์) และวัดพระแม่สกลสงเคราะห์(บางบัวทอง) 3) จ.ปทุมธานี 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระชนนีของพระเป็นเจ้า(รังสิต) 4) จ.สมุทรปราการ 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระกุมารเยซู(บางนา กม.8) 5)จ.นครปฐม 3 แห่ง ได้แก่ วัดพระตรีเอกภาพ(หนองหิน) วัดพระคริสตกษัตริย์(นครปฐม) และวัดนักบุญอันเดร (บางภาษี) 6)จ.สมุทรสงคราม 2 แห่ง ได้แก่ วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์(วัดใน) และวัดพระวิสุทธิวงศ์ (แพรกหนามแดง)
7)จ.ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ได้แก่ วัดเซนต์ร็อค(ท่าไข่) 8)จ.พระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญยวงบัปติสตา(เจ้าเจ็ด) 9)จ.สุพรรณบุรี 1 แห่ง ได้แก่วัดนักบุญลูกา (อู่ทอง) 10)จ.ราชบุรี 5 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญยอแซฟ(บ้านโป่ง) วัดนักบุญมาร์การิตา(บางตาล) วัดนักบุญเทเราซาแห่งพระกุมารเยซู(ห้วยกระบอก) และวัดนักบุญลูกา(หนองนางแพรว)
11)จ.กาญจนบุรี 3 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่ราชินีแห่งสากลโลก(กาญจนบุรี) วัดพระประจักษ์เมืองลูร์ด(ท่าเรือ) และวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์(พุถ่อง) 12)จ.สระบุรี 2 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่เมืองลูร์ด(สระบุรี) และวัดนักบุญยอแซฟกรรมกร(แก่งคอย) 13)จ.นครสวรรค์ 1 แห่ง ได้แก่ วัดอารามคาร์แมล(นครสวรรค์) 14)จ.เพชรบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเวนันซีโอ(เพชรบุรี) และ 15)จ.เชียงราย 3 แห่ง ได้แก่ อาสนวิหารแม่พระบังเกิด เชียงราย วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์(พาน) และวัดนักบุญสเตเฟน(แม่จัน)