In Thailand

สรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการสัมมนาครั้งที่ 2



ชัยภูมิ-ณ ศาลาประชาคมที่ว่าการอำเภอคอนสาร กรมทางหลวงร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาจัดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการสัมมนา ครั้งที่ 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันนี้ 9 พฤศจิกายน 2565)เวลา 09.00 น.  ณ ศาลาประชาคมที่ว่าการอำเภอคอนสาร อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ กรมทางหลวงร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาจัดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ การสัมมนา ครั้งที่ 2 เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐเอกชน และชุมชนในรูปแบบความก้าวหน้าของการพัฒนา

ซึ่งโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงอำเภอหล่มสัก-อำเภอคอนสาร เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าผลการศึกษา และสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาของโครงการ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยมีนายเสกสรร สวัสดิ์ศรี นายอำเภอคอนสาร เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน ผู้นำชุมชน และภาคประชาชนให้การต้อนรับและ เข้าร่วมประชุม

ซึ่งทางหลวงหมายเลข 12 ช่วง อำเภอหล่มสัก-อำเภอคอนสาร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเร่งรัดขยายทาง สายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) และเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยปัจจุบันทางหลวงหมายเลข 12 ได้ดำเนินการขยายเป็น 4 ช่องจราจรแล้วเสร็จไปแล้ว 629 กิโลเมตร คงเหลือแนวเส้นทางช่วงที่เป็น 2 ช่องจราจร ระยะทาง 81 กิโลเมตร ได้แก่ ช่วงอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ถึงอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง การพัฒนาเส้นทางโครงการจึงจำเป็นต้องทำการศึกษาในด้านต่างๆ เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับโครงการ

โดยในการศึกษาครั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้กำหนดแนวเส้นทางเลือกของโครงการไว้ 4 เส้นทาง และนำมาดำเนินการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 3 ด้านหลักๆได้แก่ ด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม พบว่าแนวเส้นทางเลือก N3 มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยแนวเส้นทางอ้อมไปทางด้านเหนือ เริ่มจากบริเวณ กม.274+000 (จุดตัดทางหลวงหมายเลข 21) ตัดกับทางหลวงหมายเลข 2466 กม.0+000 (สามแยกสักหลง) จากนั้นแนวเส้นทางจะเป็นถนนตัดใหม่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบทำการเกษตร หลังจากนั้นลักษณะพื้นที่จะเป็นพื้นที่เขาสูงชัน โดยจะมีการตัดเขา ปรับความลาดชัน ก่อสร้างแนวเส้นทางไปตามไหล่เขา ทั้งขาขึ้นและขาลง หลังจากนั้นปรับความลาดชันและเลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2216 เดิมบริเวณ กม.65+320 ซึ่งช่วงถนนตัดใหม่มีระยะทางรวมประมาณ 26.50 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าไป อำเภอน้ำหนาว ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามแนวทางหลวงหมายเลข 2216 เดิม อีกประมาณ 65 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่ช่วงนี้จะเป็นเขาสูงชัน เส้นทางคดเคี้ยว เมื่อถึงจุดตัดสามแยกทางหลวงหมายเลข 2216 กม.0+000 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 12 กม.429+050 จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออก ไปตามทางหลวงหมายเลข 12 เดิม อีกประมาณ 19 กิโลเมตร จนถึงจุดสิ้นสุดแนวเส้นทาง บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 12 กม.448+000 รวมระยะทางประมาณ 110.146 กิโลเมตร นอกจากนี้ที่ปรึกษาโครงการฯยัง มีแนวคิดในการพัฒนาโครงการเบื้องต้น แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1.แนวคิดการพัฒนาทางหลวงของโครงการ มีรายละเอียดดังนี้ ทางหลวงบริเวณผ่านย่านชุมชน ออกแบบเป็น 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.5 เมตร และมีเกาะกลางแบบดินถม ทางหลวงทั่วไป สำหรับบริเวณที่ข้างทางไม่มีชุมชนหรือมีชุมชนเบาบาง ออกแบบเป็น 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ)  กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.5 เมตร เกาะกลางกำแพงคอนกรีต กว้าง 2.6 เมตร และทางหลวงบริเวณพื้นที่ภูเขา ที่มีงาน Cut Back Slope ออกแบบเป็น 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.5 เมตร เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีตกว้าง 2.6 เมตร โดยทั้ง 3 รูปแบบจะดำเนินการในเขตทาง 60 เมตร

2.แนวคิดการออกแบบทางสัตว์ลอด/ทางสัตว์ข้าม มีแนวคิด 2 รูปแบบ ดังนี้ สะพานบก ออกแบบเป็นสะพานเพื่อให้รถสัญจรด้านบนและด้านล่างเป็นทางสัตว์ลอด โดยบนสะพานจะมีผนังกั้นเสียงและแสงไฟในยามกลางคืนเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนสัตว์ที่ลอดไป-มา และอุโมงค์หรือทางลอด โดยใช้วิธีขุดเปิด ก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และถมดินด้านบนปลูกต้นไม้ เพื่อให้เป็นทางสัตว์ข้ามไป-มา และสำหรับสัตว์ขนาดเล็กจะออกแบบท่อลอดเหลี่ยมให้สามารถลอดใต้ทางหลวงได้

ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ต่อไป

วิรัตน์  ดวงแก้ว จ.ชัยภูมิ